กปน. จ่อขึ้น “ค่าน้ำประปา” รอบ 23 ปี แจงต้นทุนสูง

“นายมานิต ปานเอม” เผยเตรียมขึ้นค่าน้ำประปาในรอบ 23 ปี จากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น หลังแบกรับต้นทุนค่าน้ำดิบ 1 พันล้านบาท และยังคงต้องนำส่งรายได้ให้รัฐ 50%


นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กปน.ได้ดำเนินการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาให้กับประชาชนในพื้นที่ กทม. จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ ประมาณ 12 ล้านคน โดยให้ความสำคัญที่จะให้บริการที่ดี และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันรายได้ค่าน้ำประปาของ กปน.ไม่ได้มีอัตราการเติบโตเช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะเก็บอัตราค่าน้ำประปาต่ำกว่าต้นทุนปัจจุบัน กปน.มีการแบกรับต้นทุนนี้เอง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระต่อประชาชน เช่น ต้นทุนค่าน้ำดิบ ที่กรมชลประทานเรียกเก็บในอัตรา 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. แต่ กปน.เก็บจากผู้ใช้น้ำเพียง 15 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

รวมถึงต้นทุนค่าพลังงาน ค่าสารเคมีที่ใช้การผลิตทีเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบประปา ซึ่ง กปน.ใช้เงินรายได้เป็นแหล่งทุนในการพัฒนาระบบงานประปาและการให้บริการที่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาล อีกทั้งยังพยายามบริหารจัดการต้นทุนที่เกิดขึ้น และเมื่อมีกำไรจากการดำเนินงาน กปน. ยังคงต้องนำส่งรายได้ให้รัฐ 50%

โดยที่สำคัญ กปน.ไม่ได้ขึ้นน้ำประปามาเลยตั้งแต่ปี 2543 รวมเวลาถึง 23 ปีแล้ว ที่ใช้เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำในอัตราคงเดิม ซึ่งการที่ กปน.ต้องมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำประปาที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ และครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการจัดส่งรายได้ให้รัฐ 50% จากการคำนวณเบื้องต้น หากไม่มีการปรับโครงสร้างราคาน้ำประปาในปี 2570 กปน.จะไม่มีรายได้จัดส่งให้รัฐได้อีกแล้ว ดังนั้น การปรับโครงสร้างราคาน้ำประปาจึงจำเป็นในอนาคต

“ทั้งนี้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะต้องปรับราคาในอัตราเท่าใด ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ตรงกับความเป็นจริงที่สุด โดยยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่ กปน.คำนึงถึงมากที่สุดคือ การปรับโครงสร้างราคาน้ำประปา ต้องส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนประชาชนให้น้อยที่สุด” นายมานิตกล่าว

Back to top button