“กรมธุรกิจพลังงาน” กางโรดแมป “Oil Plan” มุ่งสร้างประโยชน์ 2 แสนล้าน

“กรมธุรกิจพลังงาน” เตรียมขับเคลื่อนจัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) พร้อมรับมือการใช้น้ำมันที่ลดลงเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดมั่นใจแผนใหม่สร้างประโยชน์คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท


นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของกรมฯ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ว่า ได้คาดการณ์สถานการณ์ที่จะกระทบอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน และจัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้สอดรับกับแผนพลังงานงานชาติ ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมรับฟังความเห็นประชาชน ร่วมกับแผนพลังงานด้านต่างๆ

ทั้งนี้ Oil Plan มีสาระสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านความมั่นคง มุ่งศึกษาปรับปรุงอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

2.ด้านการบริหารจัดการชนิดน้ำมันในภาคขนส่ง ลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน และส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

3.ด้านการส่งเสริมการใช้และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

4.ด้านการส่งเสริมธุรกิจใหม่ (New Businesses) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในการลงทุนธุรกิจใหม่

ด้านกรมธุรกิจพลังงานคาดว่า การขับเคลื่อนแผน Oil Plan จะเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการขับเคลื่อน Oil Plan โดยได้กำหนดทิศทางการดำเนินการผ่านแผนปฏิบัติราชการกรมธุรกิจพลังงานปี 2566-2570 ที่ปรับปรุงใหม่ โดยเน้นใน 3 ด้าน คือ

1) การส่งเสริมความมั่นคงและการลงทุนธุรกิจพลังงาน เน้นการขับเคลื่อน Oil Plan และสนับสนุนการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง

2) การยกระดับการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการพัฒนาห้องตรวจคุณภาพน้ำมัน ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่าน และการให้บริการผ่าน E-Service

3) การยกระดับองค์กรสมรรถนะสูงบนฐานดิจิทัล โดยการปรับโครงสร้างองค์กร และการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูงสามารถขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.นันธิกา กล่าวถึงด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานว่า กรมธุรกิจพลังงาน จะดำเนินการส่งเสริมและผลักดันให้การขนส่งน้ำมันทางท่อ เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ โดยจะเร่งพิจารณาการเชื่อมท่อขนส่งให้เป็นโครงข่าย ศึกษารูปแบบบริหารจัดการระบบท่อแบบ Single Operator ตลอดจนโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศ CLMV

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับ 3 การไฟฟ้า สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน และสถานีบริการทั่วประเทศ ส่งเสริมการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าสาธารณะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเร่งจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นทิศทางเดียวกันและพัฒนาการให้บริการให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว

ส่วนด้านการพัฒนาเพื่อให้บริการผ่านระบบ e-Service กรมฯ ได้วาง Roadmap ยกระดับการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้มาติดต่อ สร้างความโปร่งใสในการบริหารงานผ่านระบบ e-Service โดยคาดว่าจะศึกษาจัดวางระบบได้ภายในปี 2566 และเปิดขออนุมัติ อนุญาตกิจการด้านความปลอดภัย ได้ภายในปี 2567 และขยายการใช้งานระบบไปยังส่วนภูมิภาคได้ภายในปี 2568

“การดำเนินงานในอนาคตของกรมธุรกิจพลังงานดังกล่าว กรมฯ จะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวของกรมฯ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การให้บริการประชาชนโปร่งใส มีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคง เพิ่มการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในที่สุด” นางสาวนันธิกา กล่าว

Back to top button