BCP ทุ่มหมื่นล้าน รุกเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน ดันกำลังผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน จ่อเปิด Q4/67

BCP ทุ่มงบ 1 หมื่นล้านบาท บุกเบิกธุรกิจเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน SAF รายแรกของประเทศไทย โดยนำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วมาทำ ตั้งเป้ากำลังผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ยีลด์ประมาณ 80% เตรียมเปิดบริการไตรมาส 4/67 มุ่งลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่เป้า Net Zero ปี 2593


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BCP,บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI และบริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) กับ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน)หรือ TTCLได้ร่วมพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว SAF รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

สำหรับ บริษัท บีเอฟจีเอฟ จำกัด (BSGF) เป็นหน่วยแรกในประเทศไทย และเป็นหน่วยแรกที่ผลิตจากน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร มีงบลงทุนก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ TTCL ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้ากำลังผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน ยีลด์ประมาณ 80% คาดว่าจะพร้อมให้บริการอุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศอีก 18 เดือน หรือเริ่มให้บริการไตรมาส 4 ปี 2567 โดยบริษัท BSGF มีผู้ร่วมทุนแต่ละบริษัทอยู่ที่ 20-40%

ทั้งนี้ด้านวัตถุดิบนั้นจะได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด จะเป็นผู้รวบรวมน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากครัวเรือนและภาคธุรกิจจากประเทศมาเลเซีย รวมถึง BCP ได้จัดตั้งโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” เพื่อดำเนินการรับซื้อน้ำมันที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหารในสถานีบริการน้ำมันบางจากที่มีอยู่ทั่วประเทศในราคา 20-23 บาทต่อลิตรและในอนาคตบางจากจะมีแอปพลิเคชั่นให้ความสะดวกในการใช้บริการ

ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ผลิต SAF และ HydeotreatedVegetable Oil (HVO) อยู่ที่ 10 โรงงาน อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีบริษัทผู้ผลิตประกาศเริ่มออกแบบและเตรียมก่อสร้างโรงงาน 27 โรงงาน ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ SAF เป็นอย่างมากในฐานะเชื้อเพลิงสำคัญที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น เมื่อปีที่แล้วสหรัฐอเมริกาได้กำหนดกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อสร้างแรงจูงใจ และสนับสนุนผู้ผลิตด้วยการกำหนดภาษีในการผลิต 1.75 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน

ขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปมีการใช้มาตรการบังคับให้ผสม SAF ลงไปในน้ำมันอากาศยานทั่วไปในสัดส่วนอย่างน้อย 2% ในปี 2568 และกำหนดให้เพิ่มเป็น 5% ในปี 2573 จนถึงปี 2593 ที่ต้องผสมอยู่ที่ 70% ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายให้เครื่องบินสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้สนามบินญี่ปุ่นจะต้องมีสัดส่วนการใช้ SAF อยู่ที่ 10% ภายในปี 2573

สำหรับหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF ในโรงกลั่นน้ำมันบางจากจะใช้เทคโนโลยีในการปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้วของบริษัท Desmet ประเทศมาเลเซียโดยรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้วจากครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” และช่องทางอื่นๆ รวมถึงเทคโนโลยีกระบวนการกำจัดออกซิเจนปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแตกโมเลกุลด้วยไฮโดรเจนด้วย UOP Ecofining Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพ

การร่วมทุนก่อตั้งบริษัท BSGF และหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยนี้ ถือว่าเป็นบทใหม่สำหรับวงการพลังงานของประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมพลังงานสีเขียว และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ตามแผน BCP 316 NET ของกลุ่มบางจาก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์(Net Zero) ภายในปี2593 และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้า Net Zero ในปี2608 ซึ่งเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 80% เทียบกับการบินเชื้อเพลิงการบินจากฟอสซิล และการใช้น้ำมัน SAF ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลปริมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี” ชัยวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตในส่วนของน้ำมันอากาศยานของบริษัทอีกประมาณ 5% จากเดิมที่อยู่ระดับ 12-15% ของกำลังการผลิตทั้งหมด พร้อมหนุนรายได้ให้เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน

Back to top button