สารภาพสิ้น! “ศรัทธา” แฉ STARK แต่งบัญชีก่อนเข้าตลาด หวัง “กำไร” ราคาหุ้น

“ศรัทธา” อดีตซีเอฟโอ STARK ส่งหนังสือถึงดีเอสไอสารภาพแบบหมดเปลือก “ตกแต่งบัญชี-สร้างธุรกรรมอำพราง” เริ่มทำตั้งแต่เฟ้ลปส์ ดอด์จ อ้างทำภายใต้คำสั่งบุคคล 3 ราย


นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือถึงพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ว่า เมื่อวันอังคารที่ 20 มิ.ย. 2566 ตนได้เข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อชี้แจงคดีของ STARK โดยได้ยอมรับเรื่องการตกแต่งบัญชี แต่ไม่ใช่เป็นการไซฟ่อนเงิน ภายใต้คำสั่งของบุคคลลำดับที่ 1, บุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3 เพื่อประโยชน์ต่อราคาหุ้น STARK ซึ่งพิสูจน์ได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยตนมีความสัมพันธ์กับบุคคลทั้ง 3 รายในฐานะลูกจ้าง ฝ่ายบริหารที่ทำตามคำสั่ง รวมถึงการดูแลทางการเงินโดยใช้บัญชีของตนเอง โดยได้ประโยชน์เป็นค่าจ้าง ตามที่คงเหลืออยู่ในบัญชี

ทั้งนี้ การตกแต่งบัญชีสร้างยอดขายปลอม ต้องมีการนำเงินจากธุรกิจอื่นมาชำระ โดยใช้บัญชีของตน ซึ่งพิสูจน์จากการตรวจสอบของ PWC (บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด) ในการกลับรายการจะต้องมีเงินเข้าจากบัญชีส่วนตัว

การตกแต่งยอดขายปลอมก่อนหน้าปี 2565 พิสูจน์ได้ว่าราคาหุ้นปรับขึ้น ผู้ได้รับประโยชน์คือบุคคลลำดับที่ 1 พิสูจน์ได้จากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังการทำ Backdoor Listing (การเข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อม)

ส่วนการแต่งบัญชีปี 2563, ปี 2564 และปี 2565 นั้น มีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่บุคคลลำดับที่ 1 ทำการขายหุ้นให้กับนักลงทุนรายใหญ่อันมีบุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3 เป็นผู้ใหญ่ พิสูจน์ได้มีการออกข่าว มีการขายหุ้นรายการใหญ่ (Big Lot) มีเงินเข้าบัญชีบุคคลลำดับที่ 1

สำหรับการแต่งยอดขายปี 2565 ที่กรณีบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง จะทำการซื้อหุ้น STARK จากบุคคลลำดับที่ 1 สัดส่วนเท่าใดไม่ทราบ แต่มีการลงนามห้ามเปิดเผยข้อมูล พิสูจน์ได้จากบริษัทพลังงานดังกล่าว มีการรายงานการประชุม แต่ไม่ทราบว่าทำไมยกเลิกไป ผู้กระทำการคือบุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3

โดยปัจจุบันผู้ที่เกี่ยวข้องใน STARK ที่เข้ามาใหม่ ตนรู้จักมานาน ตั้งแต่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของบุคคลลำดับที่ 1 ย่อมให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อบุคคลลำดับที่ 1

ทั้งนี้ บุคคลลำดับที่ 1 ควบคุมสั่งการผ่านบุคคลลำดับที่ 2 โดยมีบุคคลลำดับที่ 3 จัดการเรื่องข้อกฎหมาย ส่วนตนกระทำการเรื่องแต่งบัญชี จัดการเรื่องการเงิน ซึ่งได้รับคำสั่งจากบุคคลลำดับที่ 2 พิสูจน์เอกสารต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของบุคคลลำดับที่ 1 เป็นผู้ลงนามมอบอำนาจ ไม่ว่าสัญญาเงินกู้กับธนาคารค้ำประกันส่วนบุคคล เงินที่ได้จาการขายหุ้นและที่มาของบริษัทต่าง ๆ ของบุคคลลำดับที่ 1 เป็นการกู้ยืมจากธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อซื้อบริษัท โดยบุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3 เป็นผู้เลือก

รายละเอียดที่ตนกล่าวมาข้างต้น บุคคลลำดับที่ 1 คืออะไร ผลประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินงานของบุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3 รวมถึงผลประโยชน์ตามที่ตนได้ทำตามคำสั่งจากบุคคลลำดับที่ 2

การชี้แจงดังกล่าวเพื่อมิให้บุคคลลำดับที่ 1 เบี่ยงเบนประเด็นเป็นตนทุจริต ซึ่งประเด็นดังกล่าวเริ่มจาการแต่งบัญชี เพื่อผลประโยชน์ของบุคคลลำดับที่ 1 และตนมิได้มีความประสงค์จะหนีคดี เพื่อทำให้คดีเป็นประโยชน์ต่อบุคคลลำดับที่ 1 ดังกล่าว

พร้อมกันนี้ยอมรับว่า ตนเป็นผู้กระทำการตกแต่งบัญชีบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติการในช่วงปี 2558 เพื่อสร้างมูลค่าเทียมและเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดเหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายนปี 2564 กลุ่มผู้บริหารและกรรมการบางส่วนของ STARK ได้เริ่มเจรจากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อเข้ามาลงทุนใน STARK โดยมีการยื่นข้อเสนอให้ PTT ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท แต่ฝั่ง PTT พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควร เนื่องจากอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นเดิมรายนั้นทำกำไรจากการขายหุ้นจึงมีการยื่นข้อเสนออีกครั้งให้ PTT ซื้อหุ้นเดิมบางส่วน พร้อมกับซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ในคราเดียวกัน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวยังไม่สามารถหาแหล่งข่าวที่ยืนยันเกี่ยวกับรายละเอียดหรือรูปแบบสำหรับการทำธุรกรรมในครั้งนี้ได้ว่าท้ายที่สุดแล้วกำหนดออกมาเช่นไร อย่างไรก็ดีมีรายงานว่าคณะกรรมการด้านการลงทุน หรือ Investment Committee ของ PTT ซึ่งขณะนั้นมีผู้บริหารระดับกลางรายหนึ่งเป็นประธานฯ มีมติอนุมัติให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดใหญ่) เพื่อพิจารณาอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเข้าทำรายการซื้อหุ้น STARK

จากการตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งข่าวระดับสูงในปตท. พบว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งขณะนั้นมีหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นประธาน โดยมีการยกเลิกแผนการลงทุนในภายหลัง

ทั้งนี้ เกิดกระแสข่าวตามมาว่า ความล้มเหลวของ STARK หรือผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของ STARK ที่ไม่สามารถขาย “หุ้นออกใหม่” หรือ “หุ้นเดิม” ให้กับปตท.ได้ เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกภายในขบวนการ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักเริ่มมีปัญหาขัดแย้งระหว่างกัน ตลอดจนส่งผลให้ขบวนการตกแต่งบัญชีภายใน STARK เกิดการขัดสนทางการเงินอย่างรุนแรงจนนำไปสู่แผนการซื้อกิจการสายไฟฟ้า LEONI ที่ประเทศเยอรมนี เพื่อนำมาเป็นตัวแปรหรือปัจจัยในการหล่อเลี้ยงการทำบัญชีปลอมต่อไป

 ออกหมายเรียก ‘ชนินทร์’

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า ขณะนี้ดีเอสไอ อยู่ระหว่างการดำเนินการสืบสวนสอบสวนไปพอสมควรแล้ว และมีการรวบรวมพยานหลักฐานและคำให้การของพยาน ก่อนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหา โดยจะเร่งรัดเต็มที่เพื่อให้ทันกรอบระยะเวลาและติดตามอายัดทรัพย์มาเฉลี่ยคืนให้ได้มากที่สุด รวมถึงจะนำตัวผู้กระทำความผิดทุกรายมารับโทษทางอาญา

ทั้งนี้คณะพนักงานสอบสวน เตรียมออกหมายเรียกผู้ต้องหาอดีตประธานกรรมการ STARK คือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ เนื่องจากพฤติการณ์เป็นผู้วางแผนมีส่วนรู้เห็น ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือจะทยอยออกหมายเรียกตามลำดับต่อ ๆไป

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นำตัวแทนผู้เสียหายจากการเข้าลงทุนหุ้นกู้ STARK จำนวน 40 ราย พร้อมด้วยทีมกฎหมาย-ทีมทนายความของพรรค เดินทางเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษและยื่นเรื่องขอให้เร่งรัดการดำเนินคดี ติดตามอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

โดยการหารือกับพ.ต.ต.ยุทธนา ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน น.ส.อรุณศรี วิชชาวุธ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับทราบถึงจำนวนความเสียหายเบื้องต้นและมูลฐานของคดี

ส่วนขั้นตอนระหว่างนี้ ผู้ฉ้อโกงอาจมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ได้ จึงต้องให้ DSI เร่งติดตามตรวจสอบและประสานกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการขอศาลมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินต่อไป เพื่ออนาคตจะได้มีการเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย อีกทั้งจากนี้จะไปเตรียมความพร้อมในส่วนเสียหายทั้งหมด เพื่อรวบรวมว่ามีกี่รายและเสียหายอย่างไรบ้าง ขณะนี้มีการนัดหมายกันไปที่พรรคเสรีรวมไทยเพื่อเตรียมข้อมูลเรื่องนี้ก่อนมอบให้ดีเอสไออีกครั้ง

อย่างไรก็ตามนอกจากดีเอสไอ จะดำเนินการส่วนของคดีอาญาแล้ว จะดำเนินการในส่วนของคดีทางแพ่งควบคู่ต่อไป ส่วนวันนี้ (30 มิ.ย.) ไม่ได้มีการยื่นหลักฐานอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากทราบว่าดีเอสไออยู่ระหว่างการสอบสวนตรวจสอบว่าบุคคลใดทำผิดบ้าง และดูในส่วนของการฟอกเงิน ทั้งนี้ทีมกฎหมายและผู้เสียหาย จะมีการฟ้องร้องกับบริษัทประกันในต่างประเทศด้วย

นายวรรธนะ วงศ์สีนิล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ฟิลลิป จำกัด ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้เสียหายได้เดินทางไปพบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยต้องการเรียกร้องให้หาเงินมาคืนผู้เสียหาย เพราะหลายคนเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน เจ้าหน้าที่ควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาหลายบริษัทได้เข้าแผนฟื้นฟูแล้วเรื่องก็เงียบหาย ใช้เวลาฟื้นฟูกว่า 5-20 ปี ผู้เสียหายไม่สามารถอยู่ดำรงชีพไหวแน่นอน ก็เลยมาขอความอนุเคราะห์จาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ช่วยเร่งรัดติดตามคดีให้

“มูลค่าความเสียหายน้อยสุดที่มีคนซื้อหุ้น ประมาณ 1 แสนบาทและทวีคูณเข้าไป บางคนสูงสุดถึง 30 ล้านบาท หลายคนอายุ 85 ปีขึ้นไป ยังมีบางครอบครัวเป็นสามพี่น้องอายุ 82-86 ปี มาลงทุนและสุดท้ายไม่มีเงินเหลือ เพราะโดนไปคนละ 2 ล้านบาท ส่วนความเสียหายของทุกคนไม่เท่ากัน บางคนหลักแสนบาทก็เดือดร้อนแล้ว” นายวรรธนะ ระบุ

สรรพากรฟันแจ้งงบเป็นเท็จ

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรณี STARK เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรกำลังดำเนินการตรวจ สอบอยู่ จึงยังไม่มีการสั่งการใดพบเป็นพิเศษ หากประเด็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง กรมสรรพากร มีแนวทางชัดเจนอยู่แล้ว ขณะนี้ก็ทำงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตำรวจเศรษฐกิจ ดำเนินการร่วมกันอยู่ ประสานงานกันตลอดเป็นพันธมิตรกัน

สำหรับกรณีที่ STARK แสดงงบการเงินเป็นเท็จ รวมถึงข้อมูลรายการขายสินค้าจนนำไปถึงการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่แสดงต่อกรมสรรพากรเป็นเท็จ ซึ่งบริษัท STARK ได้ชำระภาษีแล้วนั้น กรมสรรพากร มีความเห็นว่า สำนักงานคณะ กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องลงไปดูรายละเอียดในเรื่องการรายงานงบการเงินบริษัทให้มากขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนมีความน่าเชื่อถือในเรื่องงบการเงินและได้ผ่านการตรวจสอบบัญชีกับบริษัทที่มีชื่อเสียง จึงได้ยึดเอาข้อมูลงบการเงินดังกล่าวมาเป็นแนวทางการคิดคำนวณภาษี

“ส่วนกรมฯจะคืนภาษีให้บริษัท สตาร์คฯ หรือไม่นั้น ขณะนี้ทางกรมสรรพากรยังไม่คืนภาษีให้จนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการทางกฎมาย ขอดูในรายละเอียดก่อน เพราะมีความผิดด้านอื่น ๆ ด้วย อย่าไปมองง่าย ๆ แค่ว่าขายเท่านี้ จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านี้ เอกสารท่านใช้เอกสารที่เป็นเท็จ มันมีเรื่องอื่น ๆ เช่น สินทรัพย์จะเป็นของกลางในคดีอย่างไร ค่าปรับ บทลงโทษการแสดงเอกสารที่เป็นเท็จมายื่นชำระภาษี สุดท้ายจะเป็นความผิดอะไรบ้าง และเป็นมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ยังไม่รู้” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว

Back to top button