พบพิรุธ ”ดีลอยท์” พัน STARK สั่งทีม “ฟอเรนซิค” เลิกตรวจสอบกลางคัน

พบพิรุธ ”ดีลอยท์” พัน STARK สั่งทีม “ฟอเรนซิค” เลิกตรวจสอบกลางคัน ด้านบอร์ด STARK เตรียมทำหนังสือถามกลับ? หวั่น “ดีเอสไอ” ขาดหลักฐานลง


ผู้สื่อข่าวรายงานสืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด เพื่อให้บริการ Financial Crime เพื่อสืบสวนและแสวงหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกง ความประพฤติในทางทุจริต และการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง หรือที่เรียกกันตามหน้าข่าวว่าการทำ “ฟอเรนซิค”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค. “ดีลอยท์” ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวการเลิกสัญญาไปยัง STARK โดยให้มีผลในวันที่ 25 ส.ค. หรือภายในระยะเวลา 30 วัน

ทั้งนี้ STARK เคยส่งหนังสือเรื่องขอให้ดีลอยท์ปฏิบัติตามขอบเขตการทำงานตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 หลังได้รับแจ้งด้วยวาจาว่า “ดีลอยท์” จะสั่งให้ทีมที่รับผิดชอบเรื่องฟอเรนซิค หยุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยระบุว่างานฟอเรนซิคมีความสำคัญมากในการรวบรวมข้อเท็จจริงที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการทุจริต ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก

หาก “ดีลอยท์” ไม่ดำเนินการตามขอบเขตการทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างที่ปรึกษา ถือเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่กลางคัน ซึ่งจะส่งผลให้ขาดข้อมูลสำคัญที่ครบถ้วนเพียงพอในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ทันท่วงที อันจะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อ STARK และนักลงทุนโดยทั่วไปจำนวนมากที่ต้องสูญเสียเงินออมจากกระบวนการทุจริตผิดกฎหมายที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะสร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

แหล่งข่าวจาก STARK รายหนึ่งเปิดเผยกับทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า หลังจากบริษัทได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจาก “ดีลอยท์” เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ฝ่ายบริหารรวมถึงคณะกรรมการของบริษัทรู้สึกประหลาดใจและกังวลใจเป็นอย่างมาก พร้อมกับตั้งคำถามถึงสาเหตุของกรณีดังกล่าว ซึ่งทางดีลอยท์ ระบุเพียงว่า “เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างเดือน เม.ย. 2566 จนถึงปัจจุบัน ดีลอยท์จึงไม่สามารถให้บริการแก่บริษัทต่อไปได้”

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การที่บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของ STARK ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 และถูกสังคมสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใส รวมถึงมาตรฐานในการตรวจสอบบัญชีว่ามีความบกพร่องประการใดหรือไม่ แล้วเหตุใดจึงประสงค์ให้ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด หยุดดำเนินการตรวจสอบเชิงลึก ซึ่งผลการตรวจสอบที่ออกมาอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ดีลอยท์” ในภาพใหญ่หลุดพ้นมลทิน ตลอดจนทำให้สาธารณชนเลิกสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ผู้สอบบัญชีของดีลอยท์ได้

สำหรับกรณีของนายนิติ จึงนิจนิรันดร์ อดีตกรรมการตรวจสอบ, กรรมการอิสระ, กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน STARK ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 และยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายชนินทร์ เย็นสุดใจ และกรรมการรายอื่นรวม 7 ราย ยื่นหนังสือลาออกไล่เลี่ยกัน จากการตรวจสอบพบว่าเคยดำรงตำแหน่งเป็น Audit Partner และ Director of Auditing Office ของ “ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี” ในช่วงระหว่างปี 2539-2561

ขณะเดียวกัน นายนิติรับตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ในระหว่างที่เป็นกรรมการ STARK ด้วย

ปัจจุบันนายนิติดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT และรองประธานกรรมการ, กรรมการอิสระ บริษัท โนวา เอมไพร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOVA ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานตำแหน่งสำคัญด้านบัญชีและตรวจสอบบัญชีในองค์กรชั้นนำ และหน่วยงานกำกับดูแลมายาวนานกว่า 20 ปี

โดยเคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ช่วงระหว่างปี 2562-2565 กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพด้านการสอบบัญชี และกรรมการในคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการทดสอบการปฏิบัติงานสอบบัญชีด้านวิชาการสอบบัญชีสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ระหว่างปี 2548-2563

เป็นกรรมการในคณะกรรมการการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณาผลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีอนุญาต และที่ปรึกษาในคณะที่ปรึกษาด้านการสอบบัญชี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระหว่างปี 2543-2554 และเป็นกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาวิชาชีพและการศึกษาต่อเนื่อง สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2544-2547

ข้อเท็จจริงที่ว่านายนิติเคยเป็นผู้บริหารของ “ดีลอยท์” ในฐานะหุ้นส่วน ตลอดจนการดำรงตำแหน่งสำคัญในสภาวิชาชีพบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชี ซึ่งภายหลังเข้ามาเป็นกรรมการใน STARK นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า นายนิติมีความเกี่ยวโยงกับการเซ็นรับรองงบการเงินของ STARK โดยนายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 7731 บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 ซึ่งมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีการกระทำทุจริตร้ายแรงด้วยอย่างไรหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ประเด็นพูดคุยเรื่องการทุจริตใน STARK ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ดีลอยท์” ของประชาชนทั่วไปในขณะนี้ มีการพุ่งเป้าไปที่เรื่องความเป็นมืออาชีพ หรือ Professionalism ของดีลอยท์ ตลอดจนความน่าเชื่อถือ (Reliability) ของฝั่ง “สอบบัญชี” และความรับผิดชอบ (Responsibility) ของฝั่ง “ที่ปรึกษา (ฟอเรนซิค)”

ดังนั้นหาก “ดีลอยท์” ตั้งมั่นที่จะให้ทีมฟอเรนซิกหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาข้างต้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือความคลางแคลงใจต่อความน่าเชื่อถือและการประณามในความรับผิดชอบที่ไม่ดำเนินการตรวสอบเรื่อง Financial Crime ให้จบสิ้นสมบูรณ์

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก STARK รายเดียวกัน ระบุว่า วันนี้ (2 ส.ค.) บริษัทจะส่งหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ “ดีลอยท์ (ที่ปรึกษา)” เพื่อสอบถามถึงสาเหตุหรือข้อขัดข้องในการให้บริการ “ฟอเรนซิค” จนเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว เพื่อมิให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสาธารณชนเข้าใจไปว่าเป็นการขอเลิกสัญญาโดยไม่สุจริตและมีนัยแอบแฝงของดีลอยท์

โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงจนถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นกู้ ตลอดจนสาธารณชนที่ต้องการรับทราบเหตุการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้นกับบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย และขณะนี้ที่สำนักงานก.ล.ต.ได้มีการกล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคลรวม 10 ราย ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ซึ่งกำลังเร่งสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อทำความเห็นและสรุปสำนวนคดี ก่อนดำเนินการทางกฎหมายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลและหลักฐานจากการทำฟอเรนซิคของ “ดีลอยท์ (ที่ปรึกษา)” จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อช่วยพิสูจน์ความจริง และยังเป็นพยานหลักฐานเพื่อประโยชน์ในทางคดีอีกด้วย

Back to top button