จับตา AOT เด้ง! หลังเปิด SAT-1 วานนี้วันแรก เครื่องบินเข้า 11 เที่ยว

จับตา AOT เด้ง! ตีปีกรับเปิด SAT-1 เมื่อวานนี้วันแรกที่สุวรรณภูมิ พร้อมไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์-เวียตเจ็ต บินเข้า 11 เที่ยว ผู้โดยสารกว่า 2,836 คน ด้านโบรกมองช่วยดันกำไร AOT ปี 67 โตก้าวกระโดด ให้ราคาเป้าหมาย 85.25 บาท


นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (28 ก.ย. 2566) เป็นวันแรกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดบริการแบบ Soft opening อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ซึ่งภาพรวมการให้บริการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ต ให้บริการรวมทั้งสิ้น 11 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวมประมาณ 2,836 คน

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนแรกของการเปิดให้บริการ SAT-1 (ระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 28 ตุลาคม 2566) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดการณ์จำนวนเที่ยวบินขาเข้าและขาออกของทั้ง 2 สายการบิน รวม 514 เที่ยวบิน เฉลี่ย 16 เที่ยวบินต่อวัน ผู้โดยสารรวม 142,761 คน เฉลี่ยประมาณ 4,605 คนต่อวัน

สำหรับสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ให้บริการเส้นทางไป-กลับประเทศญี่ปุ่น (โตเกียว, โอซากา, ซัปโปโร) ประเทศเกาหลีใต้ (กรุงโซล) และประเทศจีน (นครเซี่ยงไฮ้) ส่วนสายการบินไทยเวียตเจ็ท ให้บริการเส้นทางไป-กลับประเทศสิงคโปร์ เส้นทางไปประเทศเวียดนาม (นครโฮจิมินห์) และเส้นทางกลับจากไต้หวัน (ไทเป) และในระยะต่อไปจะมีสายการบินอื่น ๆ ให้บริการ ณ อาคาร SAT-1 เพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีหลายสายการบินแจ้งความประสงค์ที่จะทำการบินที่ SAT-1 แล้ว

นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อว่า อาคาร SAT-1 ให้บริการเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยมีความพร้อมให้บริการผู้โดยสารใกล้เคียงกับอาคารผู้โดยสารหลัก ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ร้านอาหาร ห้องรับรองผู้โดยสารที่รอขึ้นเครื่อง (เลานจ์) และร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) เช่น สินค้าประเภทน้ำหอม เครื่องสำอาง ของที่ระลึก ของใช้ส่วนตัว เป็นต้น แต่ร้านค้าแบรนด์เนมยังคงให้บริการเฉพาะในอาคารผู้โดยสารหลัก ทั้งนี้ผู้โดยสารขาออกควรเผื่อเวลาเล็กน้อยในการเดินทางไปยังอาคาร SAT-1 ซึ่งใช้การโดยสารด้วยระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ต่อด้วยการเดินไปยังประตูทางออกขึ้นเครื่อง

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า การเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างไม่เป็นทางการ (Soft Opening) ในวันที่ 28 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 17 ปี โดยระหว่างนี้ทดสอบระบบและประเมินก่อนเปิดให้บริการเป็นทางการ หรือ Full Service ที่คาดว่าจะเปิดช่วงกลางเดือน พ.ย. 2566

สำหรับอาคาร SAT-1 สามารถรองรับผู้โดยสารอีก 15 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี โดยปัจจุบันมีประมาณ 10 สายการบินที่จะเข้าใช้บริการอาคาร SAT-1 ได้แก่ สายการบินเอทิฮัด สายการบินอิหร่าน สายการบินอิมิเรตส์ สายการบินกาตาร์ สายการบินออลนิปปอน ส่วนสายการบินไทย และอีก 4-5 สายการบินกำลังเจรจากันอยู่ ทั้งนี้จุดเด่นของ SAT-1 มีพื้นที่กว้างใหญ่ รองรับเลานจ์ขนาดใหญ่ 6 แห่ง และสามารถรองรับเครื่องบินลำใหญ่ อย่างแอร์บัสเอ 380 และมีหลุมจอด 28 หลุม ทำให้หลายสายการบินสนใจ

ทั้งนี้ AOT กำลังพิจารณาให้ส่วนลดกับสายการบินที่จะมาเช่าพื้นที่ในอาคาร SAT-1 ที่ตั้งออฟฟิศ, การใช้สะพานเทียบเครื่องบิน ค่าจอดเครื่องบินด้วย

ในส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ อย่างดิวตี้ฟรี ที่คิง เพาเวอร์ได้สัมปทาน ก็ได้เปิดใน SAT1 ด้วย โดยในงวดปี 2566 AOT ยังมีรายได้จากการให้สัมปทานกับคิง เพาเวอร์ที่กลับมาใช้สัญญาปกติ เริ่ม 1 เม.ย. 2566 จากที่สิ้นสุดให้ความช่วยเหลือเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 2566 โดยนอกจากส่วนแบ่งรายได้ ก็จะมีเพิ่มในส่วนรายได้ขั้นต่ำ (Minimum guarantee) ต่อคน

นายกีรติ กล่าวว่า ขณะนี้อาคาร SAT-1 มีระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ (ICS : Individual Carrier System) เฉพาะขาออก ส่วนระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระขาเข้า อยู่ระหว่างออกแบบและจัดทำทีโออาร์ งบประมาณก่อสร้าง 3,700 ล้านบาท โดยคาดว่าจะตั้งงบประมาณปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี โดยปัจจุบันจะใช้ รถลำเลียงกระเป๋าขาเข้าซึ่งไม่พบปัญหาอุปสรรคในการให้บริการ

บริษัทยังเดินหน้าดำเนินการส่วนต่อขยายด้านตะวันออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าโครงการ 8-9 พันล้านบาท ที่จะเสนอครม.เพื่อรับทราบ ซึ่งก่อนหน้านี้ครม.ได้อนุมัติวงเงินลงทุนไว้แล้ว และคาดว่าต้นปี 2567 จะเปิดประมูลได้ โดยอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาปรับแบบตามความต้องการใช้งาน

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด มอง Positive ต่อการให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 ช่วยเพิ่มกำลังการให้บริการ สร้างความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และคาดกำไรปี 2567 (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) จะเติบโตก้าวกระโดดเพิ่มขึ้น 166% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร

ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิ (ก.ค.-ก.ย. 2566) ที่ 4-5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร และมองกรอบนักท่องเที่ยว 28-30 ล้านคน เป็นไปได้ โดยมองผลประกอบการปี 2566 จะกลับมากำไร 10,054 ล้านบาท (จากปี 2565 ขาดทุน 1.1 หมื่นล้านบาท และกลับไปเท่า Pre-COVID ในปี 2567 คาดกำไรสุทธิ 2.7 หมื่นล้านบาท และภาพระยะกลาง-ยาว แนวคิดขยายสนามบินเชียงใหม่, ภูเก็ต และฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน จะช่วยเร่งโมเมนตัมของรายได้เพิ่มขึ้น

โดยราคาปัจจุบันซื้อขาย PER2567 ราว 37 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อน COVID ระดับ 40-45 เท่า คงคำแนะนำ “ซื้อ” AOT ราคาเป้าหมาย 85.25 บาท

Back to top button