เปิดเกม TRUE ควบ DTAC อำพรางจุดอ่อน..เติมศักยภาพแข่งขัน.!?

การที่ผลการดำเนินงานของ TRUE ยังไม่ค่อยสู้ดี อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นหลังเสร็จสิ้นการควบรวม ทำให้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก นักวิเคราะห์คาดว่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนช่วงครึ่งปีหลังโดยคาดผลประกอบการจะพลิกฟื้นในปี 2567 แทนที่จะเป็นปี 2566


ถือเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์การควบรวมกิจการในประเทศไทย สำหรับดีลการควบรวมกันระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เนื่องจากเป็นการควบรวมกันครั้งใหญ่ของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไทย และทำให้ผู้เล่นในตลาดลดลง จากเดิมมี 3 ราย จะเหลือแค่ 2 ราย และส่งผลให้ TRUE ใหม่ครองมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ในธุรกิจโมบาย แทน AIS แชมป์เก่าทันที

ขณะที่มีข้อถกเถียงของสังคมว่าการควบรวมดังกล่าวทำได้หรือไม่.? ถ้าทำได้ตัวธุรกิจและคนทั่วไปจะได้รับผลกระทบอย่างไร.? ส่งผลให้ขั้นตอนต่าง ๆ ล่าช้า ลากยาวมากว่า 2 ปี

จุดเริ่มต้นของดีลนี้เกิดจากกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ของ TRUE ประสบปัญหาต้นทุนทางการเงินเป็นตัวถ่วงกำไรมาโดยตลอด เนื่องจากมีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งขาโทรศัพท์มือถือ (ทรูมูฟ เอช) ขาอินเทอร์เน็ต (ทรูออนไลน์) และขาทีวี (ทรูวิชั่นส์) ซึ่งมาพร้อมกับต้นทุนการเงินที่สูงกว่ากลุ่มสื่อสารค่ายอื่น ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในแต่ละปีจึงต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยค่อนข้างสูง

สะท้อนได้จากสถานะทางการเงิน ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการที่เทียบเท่าเงินสด 24,836 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 24,750 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์หมุนเวียน 103,644 ล้านบาท และหนี้สินหมุนเวียน 154,333 ล้านบาท

นอกจากนี้ TRUE ยังมีหนี้สินรวมสูงถึง 524,276 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 6.15 เท่า แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีภาระหนี้สินสูง ทำให้การก่อหนี้ใหม่ทำได้ยากขึ้น

ที่สำคัญในอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันรุนแรง ประกอบกับมีภาระค่าไลเซนส์ที่ต้องจ่ายทุกปี และการลงทุนเพิ่ม เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทำให้ไปต่อได้ยาก แม้จะมีโอกาสทางธุรกิจก็ตาม

ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นทางธุรกิจ เนื่องจากส่วนของธุรกิจโมบายยังตามหลังคู่แข่ง ทั้งในด้านรายได้ และจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งการที่จะมีลูกค้ามาเปิดเบอร์ใหม่ นับวันจะยากมากขึ้น ครั้นจะใช้กลยุทธ์ย้ายค่ายเบอร์เดิม เพื่อจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการ ก็ต้องแลกมาด้วยโปรโมชั่นลดแหลก…แจกกระหน่ำ ซึ่งจะทำให้มาร์จิ้นลดลง

ทางออกของ TRUE จึงต้องอาศัยการเติบโตแบบอินออร์แกนิก หรือต้องไปเทกกิจการอื่น หรือ M&A.!!

ส่วนในมุมของ DTAC จะเห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีการขยับน้อยมาก เห็นได้ชัดจากกรณีไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 4G ขณะที่การประมูลคลื่น 5G ก็เข้าร่วมแบบเสียมิได้ ซึ่งได้มาแค่ 2 ชุด ในคลื่นความถี่ 26 GHz รวม 200 MHz ถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ความเชื่อมั่นในแบรนด์ DTAC ลดน้อยลง

และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกค้าพากันย้ายค่ายหนี ส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์ของ DTAC จากเดิมอยู่อันดับ 2 หล่นมาเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่วันนั้น และปล่อยให้ TRUE เบียดขึ้นมาครองอันดับ 2 แทน

ขณะที่จุดบอดของ DTAC คือการไม่มีบริการ WiFi หรือธุรกิจบรอดแบนด์ ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ DTAC เคยประกาศจับมือกับบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ซึ่งถูกคาดหมายกันว่า JAS จะเข้ามาช่วยเติมเต็มอินเทอร์เน็ตบ้านให้กับ DTAC แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป

ในแง่ของผลประกอบการ ถึงแม้ยังมีกำไร แต่ก็โตแบบถดถอยมาโดยตลอด

ที่สำคัญผู้ถือหุ้นใหญ่ DTAC ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเทเลเนอร์ หรือ “เจ้าสัวบุญชัย เบญจรงคกุล” ที่ถือหุ้นในนามบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็อยากจะถอยเต็มที

โดยเทเลนอร์เข้ามาถือหุ้น DTAC ตั้งแต่ปลายปี 2548 ด้วยเม็ดเงินลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท…ทว่าจากนโยบายปันผลปีละ 2 ครั้ง เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 2 บาท เทเลนอร์น่าจะคืนทุนไปแล้วตั้งแต่ 5–6 ปีแรก ส่วนที่เหลือก็เป็นกำไร จึงไม่น่าแปลกใจที่เทเลนอร์อยากจะถอนตัวจากประเทศไทย

ด้าน “เจ้าสัวบุญชัย” ก่อนที่กระบวนการควบรวมจะแล้วเสร็จ ได้ขายล้างพอร์ตหุ้น DTAC จำนวน 434.12 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 44.47 บาท รวมมูลค่า 19,307 ล้านบาท เท่ากับว่า “เจ้าสัวบุญชัย” ปิดตำนาน 34 ปี กับ DTAC โดยสมบูรณแบบ

จากความจำเป็นของทั้ง 2 บริษัท เลยเป็นที่มาของการควบรวมกิจการกัน

ทว่ากระบวนการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ก็ไม่ง่าย มีอุปสรรคมากมายระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ถูกท้าทายว่า มีอำนาจอนุมัติหรือแค่รับทราบเท่านั้น รวมทั้งการยื่นฟ้องศาลปกครองของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้เพิกถอนมติ กสทช. เป็นต้น

ซึ่งไม่ว่าตัวบทกฎหมายจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายจบที่ว่า กสทช.แค่ “รับทราบ” เท่านั้น พร้อมกำหนดเงื่อนไขการควบรวมกิจการ อาทิ ลดค่าบริการเฉลี่ย 12% แยกแบรนด์ทำตลาดเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นต้น

หลังกระบวนการควบรวมยืดเยื้อมากว่า 2 ปีในที่สุด TRUE กับ DTAC ก็ควบรวมกันเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา พร้อมใช้ชื่อใหม่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งถูกคาดหวังไว้ว่า หลังควบรวมกันแล้ว หลาย ๆ อย่างจะดีขึ้น

แต่เริ่มต้นไม่ดี เมื่อ TRUE ใหม่เปิดงบไตรมาส 1/2566 พลิกมาขาดทุนสุทธิ 492 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 1,422 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 51,463 ล้านบาท ลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีรายได้รวม 55,151 ล้านบาท

โดยตัวเลขขาดทุน 492 ล้านบาท ถ้าหักกำไรที่เกิดขึ้นครั้งเดียวออกไป 2 รายการ ได้แก่ กำไรจากการเคลมประกัน 350 ล้านบาท และการยุติคดีความ 1,200 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ TRUE จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท เทียบกับมีกำไรจากการดำเนินงาน 1,300 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565

หนึ่งในประเด็นที่คาดหวังว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หนีไม่พ้นต้นทุนทางการเงิน ปรากฏว่าภาระต้นทุนทางการเงินก็ยังอยู่ระดับสูงที่ 5,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 5,398 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2,320 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 490 ล้านบาท และในไตรมาส 2/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 2,556 ล้านบาท เนื่องจากมีรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหลายรายการ ได้แก่ การ write-off ผลขาดทุนทางภาษีที่ carry forward แต่ไม่ได้ใช้ (จาก DTAC) 1,750 ล้านบาท, การกลับรายการสำรองการชำระค่า IC ให้กับ NT 1,480 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 545 ล้านบาท

โดยไตรมาสนี้มีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 39,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 และมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 0.7 ล้านราย เป็น 51.1 ล้านราย หรือโต 1.3% จากไตรมาส 1/2566 แบ่งเป็นผู้ใช้บริการระบบเติมเงินเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านราย เป็น 35.4 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 1.9% ในขณะที่ผู้ใช้บริการระบบรายเดือนทรงตัวอยู่ที่ 15.7 ล้านราย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และมีรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ของระบบเติมเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% เป็น 104 บาทต่อเดือน ในขณะที่ ARPU ของระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% เป็น 416 บาทต่อเดือน ส่งผลให้ ARPU รวมทรงตัวที่ 201 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ด้านต้นทุนทางการเงินไตรมาส 2/2566 ยังอยู่ระดับสูงที่ 5,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ 5,427 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 5,469 ล้านบาท

การที่ผลการดำเนินงานของ TRUE ยังไม่ค่อยสู้ดี อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นหลังเสร็จสิ้นการควบรวม ทำให้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก นักวิเคราะห์คาดจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนช่วงครึ่งปี โดยคาดว่าผลประกอบการจะพลิกฟื้นในปี 2567 แทนที่จะเป็นปี 2566

ขณะที่ TRUE ยังต้องเผชิญปัญหาจากเกณฑ์การควบรวม ที่ต้องคงแบรนด์ DTAC ไว้ 3 ปี นั่นหมายถึงภาระที่จะต้องแบกรับต่อไปอีก 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่า หลังควบรวมกันแล้ว TRUE ใหม่จะทำผลงานได้ดีแค่ไหน.? สมกับการรอคอยหรือไม่.?

ที่สำคัญ จะสามารถกดต้นทุนทางการเงินให้ลดลงได้หรือไม่

เพราะหากตัวเลขต่าง ๆ ยังเป็นเหมือน.. เท่ากับว่าการควบรวมก็สูญเปล่า

Back to top button