TPCH ชนะประมูลโรงขยะ 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 20 MW

TPCH ปลื้มกิจการค้าร่วม “TPCH-SP” ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ “SP2 – SP3” กำลังผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ กางแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะเพิ่ม 4 แห่ง หนุนผลงานในอนาคตเติบโตแข็งแกร่ง


นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า TPCH และบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด หรือ SP ซึ่งเป็นกิจการค้าร่วมได้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าจำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 2 (SP2) ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย

โดยตั้งอยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ และ 2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 3 (SP3) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์

“ทั้งนี้การที่ TPCH ชนะการประกวดราคาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ทั้ง 2 โครงการ ทำให้มีกำลังการผลิตในส่วนของพลังงานขยะเพิ่มอีก 20 เมกะวัตต์ เป็น 29.5 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SP1 และหากรวมกับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG

จะมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 110 เมกะวัตต์ โดยมั่นใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ผลงานของบริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต” นางกนกทิพย์ กล่าว

ขณะที่นายทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SP กล่าวว่าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 2 คาดว่า จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA ภายในปีนี้ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 3 คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA ภายในไตรมาส 1/2567

โดยยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะเพิ่มอีกประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ อีกทั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SP เป็นกิจการร่วมค้าที่ TPCH เข้าไปถือหุ้นในบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัดในสัดส่วน 50% และ กลุ่มนายทวี จงควินิต ถือหุ้นในสัดส่วน 50%

นอกจากนี้ TPCH ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 90 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 340 เมกะวัตต์

Back to top button