EGCO ลุย “พลังงานทดแทน” มะกัน! โครงการ APEX พอร์ตบิ๊ก 5.8 หมื่นเมกฯ

EGCO รุกขยายพลังงานทดแทน “อเมริกา” นับเป็นพอร์ตใหญ่ในโครงการ “APEX” ซึ่งเป็นการพัฒนาพลังงานแดด พลังงานลม และแบตเตอร์รี่ โดยเตรียมการพัฒนาอยู่ที่ 58,900 เมกะวัตต์ ด้าน 3 โปรเจ็กต์ใหญ่ทยอยรับรู้รายได้ต้นปีหน้า พร้อมปักธง net zero ปี 2593


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจปี 2567 ผ่านในรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” วันนี้ (27 พ.ย. 66) ว่า ปีนี้บริษัทฯ เข้าปีที่ 31 แล้วถือว่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบัน EGCO มีการลงทุนกระจายไปในประเทศต่างๆ รวมแล้ว 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และล่าสุดได้ขยายการลงทุนในอเมริกา

ทั้งนี้ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าทั้งหมดรวม 41 แห่ง มีกำลังการผลิตในสัดส่วนที่ EGCO ลงทุน ประมาณ 7,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัทฯ ด้วย

โดยในการกระจายการลงทุนในเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ  สัดส่วนการลงทุนของ EGCO ภายในประเทศอยู่ที่ 43% ขณะที่ในต่างประเทศ 57% ซึ่งถ้าแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง หลักๆ ยังเป็นเชื้อเพลิงแก๊สธรรมชาติอยู่ที่ 61% ในส่วนของพลังงานหมุนเวียนพยายามเพิ่มขึ้น 20%  และถ่านหินประมาณ 19%

สำหรับการลงทุน แบ่งในเรื่องของตลาด จะมีรูปแบบสัญญา PPA ประมาณ 77% ซึ่งมีรายได้แน่นอน อีก 21% อยู่ในตลาด Power Pool ซึ่งมีการแข่งขันราคา และมีลูกค้าตรง  (Industrial User) ไม่เกิน 2%

ทั้งนี้ การขยายการลงทุนในไทยถือว่าเป็นพื้นฐานการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศยังสูงอยู่ โดยโอกาสที่จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ๆ อาจจะยากขึ้น แต่ยังคงมองหาการลงทุนในประเทศต่างๆ ของอาเซียน และในตลาดอเมริกา ที่มีการเติบโตและมีความต้องการในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยกระจายการลงทุนไปในประเทศต่างๆ และให้ความสำคัญกับตลาดอเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ ดีมานด์ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงมากขึ้นตามไปด้วย นับเป็นโอกาสของ EGCO โดยมีโปรเจกต์ที่น่าสนใจหลายๆ อย่างทำให้ในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จะโฟกัสไปที่ตลาดอเมริกามากขึ้น

“อย่างไรก็ตามใน 8 ประเทศที่กระจายการลงทุนไปข้างต้น บริษัทฯ ยังคงหาโครงการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเติมใน Portfolio ของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง” นายเทพรัตน์ กล่าว

นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/66 บริษัทมีรายได้รวม 13,910 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 3,343 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,373 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปี 66 บริษัทฯ มีรายได้รวม 44,628 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 7,526 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 5,855 ล้านบาท ซึ่งกำไรจากการดำเนินงานลดลง ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เนื่องจากเวลามองกำไรสุทธิเป็น Bottom-line จะมีค่า fx (อัตราแลกเปลี่ยน) โดยปกติบริษัทฯ จะกู้เงินในสกุลที่จะรับรู้รายได้ในสกุลเดียวกัน เพราะฉะนั้นในทางตัวเลขจึงไม่ได้ขาดทุนในอัตราแลกเปลี่ยนจริงๆ แต่เมื่อต้องปิดงบในแต่ละไตรมาส เวลากู้ 4-5 ปี แต่เงินที่เข้ามายังอยู่ที่ 1-2 ปี จึงมีตัวเลขเงินกู้ที่ค้างในสกุลเงินต่างประเทศอยู่จึงต้องแปลงตัวเลขนั้นเพื่อปิดงบ ซึ่งยังไม่ใช่ตัวเลขจริงๆ

โดยบริษัทฯ เล็งเห็นถึงความเป็นกังวลของนักลงทุน ในปีหน้าบริษัทฯ จะหาวิธีการปรับอัตราการกู้ระหว่างกันเพื่อลด fx เกนล็อตให้อยู่ในจุดที่น้อยที่สุด โดยคาดว่าปีหน้าความผันผวนของกำไรจะลดลง

สำหรับผลกระทบจากภาวะสงครามในตะวันออกกลางซึ่งถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนั้น ในช่วงปี 65 ที่มีสงครามยูเครน – รัสเซีย ถือเป็นวิกฤตราคาพลังงานเนื่องจากคู่สงคราม (รัสเซีย) เป็นผู้ค้าน้ำมัน และแก๊สรายใหญ่ของโลก ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการซื้อขายพลังงาน โดยส่งผลกระทบกับทุกประเทศ แตกต่างจากครั้งนี้ที่คู่สงครามไม่ได้ทำการซื้อขายพลังงานโดยตรง อย่างไรก็ตามถือว่าจะประมาทไม่ได้ เพราะถ้าสงครามขยายอาจทำให้มีประเทศร่วมสงครามเพิ่มเติมซึ่งถ้าประเทศเหล่านั้นมีบทบาทในการซื้อขายน้ำมัน หรือเชื้อเพลิงก็จะมีผลกระทบกับราคาพลังงาน

ทั้งนี้ แม้ราคาพลังงานโลกจะมีความผันผวนแต่ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงกับผลประกอบการของบริษัทฯ มากนัก เนื่องจากโครงสร้างตลาดของ EGCO มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือสัญญา PPA ซึ่งต้นทุนด้านเชื้อเพลิง Part too ไปที่ค่าไฟ และตลาด Power Pool เป็นการแข่งขันกันด้วยบีทดิ้ง ซึ่งถ้าต้นทุนถูก ราคาก็จะถูก แต่ถ้าต้นทุนแพงราคาก็จะแพงสอดคล้องกับต้นทุน เพราะฉะนั้นราคาจึงสะท้อนต้นทุน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่อาจจะได้รับผลกระทบในส่วนของลูกค้าตรง ซึ่งมีอยู่ไม่เกิน 2% ซึ่งลูกค้าเหล่านั้นอาจจะได้ราคาส่วนสดจากมาตรการหรือนโยบายภาครัฐ โดยจะส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ แต่ถือว่าน้อยมากเพราะอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่เกิน 2%

นายเทพรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยตลอดทั้งปีบริษัทฯ ทำงานอย่างหนัก ในต้นปีมีโครงการที่ปิดดีล คือ “ไรเซ็ก” ในอเมริกา และในไตรมาส 4/66 เนื่องจาก EGCO สนใจการลงทุนในอเมริกา โดยมองหาพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งพื้นที่ที่เลือกลงทุนมีความต้องการในการใช้ไฟฟ้าสูง ซึ่งความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่สูงนั้นจะสะท้อนราคาที่สูงตามไปด้วย นอกจากนั้นยังได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่ เพราะมี benefit ทางด้านภาษี และใกล้แหล่งเชื้อเพลิงมากกว่า 1 แหล่งเพื่อมั่นใจว่าจะได้เชื้อเพลิงในราคาที่ดี ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีต้นทุนที่ดีและสามารถแข่งขันในตลาด Power Pool ได้ โดยปริมาณการใช้ไฟในจำนวนมากจะส่งผลให้ราคาไฟดีขึ้น

ขณะเดียวกันสามารถดูแลต้นทุนได้ แม้โรงไฟฟ้าเก่า มีอายุมากขึ้นก็สามารถที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่ได้ โดยโลเคชั่นสำคัญนั้นจะทำให้คู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาได้ยากขึ้น สำหรับโรงไฟฟ้า Conventional นั้นยังจำเป็นสำหรับการรองรับพลังงานหมุนเวียนที่กำลังเพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการดูแลเสถียรภาพ โดยโรงไฟฟ้าที่ EGCO เข้าลงทุนยังเป็นโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพที่จะจ่ายไฟได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในอเมริกา ซึ่งถือเป็นพอร์ตใหญ่ คือโครงการ “APEX” ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนล้วน และเตรียมการพัฒนาอยู่ที่ 58,900 เมกะวัตต์ โดยมีทั้ง พลังงานแดด พลังงานลม และแบตเตอร์รี่ กระจายไปทั่วทุกรัฐในอเมริกา ซึ่งโครงการที่ถูกพัฒนานั้นจะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมว่ามีศักยภาพแค่ไหน อยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านชุมชนหรือไม่ และต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อจะประเมินค่าใช้จ่ายในการลงทุน

รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางด้านโครงสร้างการเงิน โดยถ้ามีความคุ้มค่าในการลงทุนก็จะจัดเรียงลำดับความสำคัญ และเข้าสู่กระบวนการก่อสร้าง หลังจากนั้นจะเริ่มจ่ายไฟ และการขายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) จึงจะทยอยขายออก ซึ่งจะมีกองทุนต่างๆ และนักลงทุนที่สนใจพลังงานหมุนเวียนเข้ามาซื้อโครงการที่จ่ายไฟได้แล้ว และขายเชิงพาณิชย์ได้แล้ว  โครงการ APEX เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการลงทุนของ  EGCO ต่างจากในอดีตที่ซื้อโรงไฟฟ้ามาและขายไปเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบันเพิ่มการขายโรงไฟฟ้าเข้ามาด้วย

ทั้งนี้ อเมริกามีกฎหมาย IRA ซึ่งจะสนับสนุนให้โครงการพลังงานหมุนเวียนมีการพัฒนาได้เร็วขึ้น โดยจะสามารถทำให้โครงการพลังงานหมุนเวียนได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นถือเป็นโอกาสของบริษัทฯ ที่เลือกลงทุนในอเมริกา สำหรับในอาเซียนมีการเจรจาการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหลายโครงการ และมีการเจรจาการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนของการรับรู้รายได้ของโปรเจ็กต์  conventional 3 โครงการล่าสุดในอเมริกาเป็นโครงการใหญ่ซึ่งมีการ SPA เรียบร้อยแล้วกับสัญญาซื้อขาย แต่เนื่องจากในอเมริกาจะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมากำหนด รวมถึงตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ โดยเมื่อมีการอนุมัติการปิดดีลก็จะสมบูรณ์ ซึ่งจะเร่งปิดดีลให้ได้ภายในปีนี้ คาดว่าจะไม่เกินไตรมาส 1/67 และจะสามารถรับรู้รายได้ 3 โครงการข้างต้นในปีหน้า

“สำหรับโครงการ APEX ที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่นั้น มีการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมามีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประมาณ 7 โครงการ มีทั้ง พลังงานแดด พลังงานลม และแบตเตอรี่ ซึ่งในหลายโครงการมีสัญญา PPA และมีผู้จองซื้อเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้บริษัทฯ มีกำหนดการ carbon neutral ปี 2040 และ net zero ในปี 2050” นายเทพรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button