“ก.ล.ต.” ปรับเกณฑ์คัด “บจ.” เข้าตลาด ย้ำลงโทษผู้ทำผิดทุกกรณี

ก.ล.ต.เพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองบริษัทจดทะเบียนที่เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ยืนยันดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดในทุกกรณี


นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตามที่ ก.ล.ต. ได้จัดทำโครงการ “บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง” ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือ (Trust & Confidence) ในตลาดทุน เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและการทำหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนทั้งองคาพยพ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านแนวทางการดำเนินการและกิจกรรมต่าง ๆ ตาม 3 มาตรการหลัก ได้แก่ ป้องกัน ป้องปราม และปราบปราม มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในหลายเรื่องมีความคืบหน้าไปมาก

โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/67 เมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ และเป็นส่วนหนึ่งใน “มาตรการป้องกัน” ของ ก.ล.ต. ดังนี้

1) ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัท ที่จะเข้าจดทะเบียน โดยจะมีการปรับเกณฑ์พิจารณาฐานะการเงินและผลประกอบการ รวมทั้งความมั่นคงของบริษัทในมิติต่าง ๆ

2) ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อทำให้กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่จะจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trade) มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO)

3) ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนผู้ลงทุน และการเพิกถอนบริษัทที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และ

4) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้ถือหน่วยสำหรับบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์ และกองทุนต่าง ๆ

ทั้งนี้ กรณี (1) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 กรณี 2) และ 3) ส่วนใหญ่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.67 และกรณี 4) คาดว่าจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำรายการที่มีนัยสำคัญ (MT) และการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน (RPT) เพื่อกำหนดหน้าที่ให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนให้ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เพื่อกำหนดให้ต้องยื่นงบการเงินย้อนหลัง 3 ปีล่าสุดที่ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงิน Publicly Accountable Entities (PAE) เริ่มบังคับใช้แล้ว สำหรับบริษัทที่จะขอยื่นเสนอขายหุ้น IPO ในปี 67

รวมทั้งการยกระดับการทำหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในบริษัทจดทะเบียน (Line of defense) เช่น กรรมการ กรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระ ผู้บริหารและเลขานุการ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ (Gatekeeper) เช่น ผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงินให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งเดินหน้าส่งเสริมความรู้และความคุ้มครองให้ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ “มาตรการป้องปราม” ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาระบบเพื่อแจ้งเตือนความผิดปกติหรือความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำกับดูแลให้มีความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ มีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบได้

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เช่น ทบทวนเกณฑ์การกำหนดวงเงินลูกค้า การพิจารณาคุณภาพหลักประกัน และการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อไม่ให้คนไทยซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือ Non-Voting Depositary Receipt (NVDR) รวมทั้งร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ศึกษาแนวทางการออกเกณฑ์ Auto Halt หรือหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวสำหรับหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ โดยคาดว่าจะมีการออกหลักเกณฑ์และนำมาปฏิบัติได้ภายในปี 67

นางพรอนงค์ กล่าวอีกว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนิน “มาตรการปราบปราม” โดยที่ผ่านมาได้ทำอย่างเต็มกำลัง สำหรับเคสที่อยู่ในความสนใจของประชาชนกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่ง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปแล้ว เมื่อปรากฏข่าวหลักฐานในส่วนที่ ก.ล.ต. ตรวจสอบเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิด

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้ประสานความร่วมมือและติดตามกับ DSI และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อชี้ให้เห็นข้อมูลที่ ก.ล.ต. ใช้ในการพิจารณากล่าวโทษ นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ยังได้ปรับโครงสร้างองค์กรโดยเพิ่มผู้ช่วยเลขาธิการ สายงานบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มเติมอีกหนึ่งตำแหน่ง และปัจจุบันได้แต่งตั้งพันตำรวจโท สุทธิศักดิ์ จิตพิมลมาศ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.67”

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์และพร้อมเดินหน้าส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญในการทำหน้าที่ของตนเองเพื่อป้องกัน ป้องปราม และยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียนที่อาจสร้างความเสียหายและกระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย รวมทั้งเสริมสร้างความยั่งยืนของตลาดทุนไทยโดยรวมต่อไป

Back to top button