คัด 6 หุ้นตัวท็อป จ่อรับ “บอร์ดอีวี” คลอดมาตรการลงทุนผลิต “แบตเตอรี่ระดับเซลล์”

EA-GPSC-BANPU-BPP-BCPG-DELTA ตัวท็อปเน้นลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ที่ชัดอยู่แล้ว เตรียมรับนโยบาย “บอร์ดอีวี” ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิต “แบตเตอรี่ระดับเซลล์” สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)


จากประเด็นที่ประชุม “บอร์ดอีวี”  โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยายยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ

ขณะเดียวกันบอร์ดอีวียังได้เห็นชอบมาตรการสงเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ภายใต้บีโอไอ โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้

1.ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

2.ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลส์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้

3.ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg

4.ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเวลาลงทุนภายในปี 2570

อย่างไรก็ตามจากการประเมินเบื้องต้นหลังจากบอร์ดอีวีได้เห็นชอบส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ดังนั้นผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ผลิตแบตเตอรี่ในปัจจุบันมีจำนวนมาก แต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) ที่มีภาพการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ที่ชัดอยู่แล้วก่อนหน้าหลักๆ มี 6 หลักทรัพย์ ได้แก่ EA, GPSC, BANPU, BPP, BCPG และ DELTA

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรายใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้นำร่องธุรกิจแบตเตอรี่ในประเทศไทย EA มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV คือ กำลังก่อสร้างโรงงานแบตเตอรีลีเทียมไอออน, ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, เรือไฟฟ้า และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ผ่านบริษัทย่อย Amita Taiwan ( EA ถือหุ้นราว 70%) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ประเภท Lithium-ion กำลังการผลิต 400 MWh

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นบริษัทในเครือ ปตท.ที่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV คือ กำลังลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีลีเทียมไอออนในประเทศไทย ส่วนธุรกิจหลักคือธุรกิจโรงไฟฟ้า ล่าสุดได้กำหนดให้ธุรกิจแบตเตอรี่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ New S-Curve ของบริษัท เริ่มต้นโครงการนำร่อง (Pilot Project) สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ 30MWh ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid ซึ่งเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion ของบริษัท 24M Technologies (GPSC ถือหุ้น 18%) ที่ลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิต และจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนการผลิตลงได้ นอกจากนี้ GPSC ยังได้เข้าถือหุ้น 11.1% ในบริษัท AXXIVA ในประเทศจีน กำลังการผลิตแบตเตอรี่ 1 พันMWh

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เข้าถือหุ้น 50% ในบริษัทย่อย BANPU NEXT ที่ลงทุน 47% ในบริษัท Durapower Holdings Pte Ltd., ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบ Lithium-ion เพื่อใช้ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศจีนและยุโรป โดยโรงงานดังกล่าวสามารถรองรับการผลิตได้ 1พัน MWh ซึ่งปัจจุบันได้ขยายกำลังการผลิตสู่ 380 MWh จากจุดเริ่มต้นที่ 80MWh โดย ทั้ง BANPU และ BPP เริ่มมีการรับรู้กำไรจากธุรกิจนี้ราว 1-2 ล้านบาทต่อปี

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ถือเป็นผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีโครงการต้นแบบจากการนำแบตเตอรี่ 1.4MWh มาใช้สำหรับโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)

บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาดของเดลต้าในปัจจุบันโดยมีชิ้นส่วนรถ EV และเครื่องชาร์จรถ EV บริษัทยังได้พัฒนาระบบในการแปลงพลังงานจากโซลาร์รูฟ รวมทั้งระบบ Smart Grid และระบบในการติดตามเรื่องของคาร์บอน

Back to top button