AAI เน้นบริหารต้นทุน ดันรายได้ปี 67 โตเข้าเป้า 6.5 พันล้าน

AAI ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 6.5 พันล้าน มาจากการเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มั่นใจว่าจะโตขึ้นมาแตะ 5.4 พันล้านบาท พร้อมคาดว่าจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้ทั้งปีอยู่ที่ระดับ 13-15%


นางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน (CFO) บริษัท เอเชี่ยน อะเลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 1 มี.ค.67 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 382.92 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 5,439 ล้านบาท ลดลง 23.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 7,124 ล้านบาท เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง จากการปรับปริมาณสต็อกของลูกค้าเจ้าของแบรนด์ส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับระยะเวลารอคอยสินค้า (Lead time) ใหม่ที่สั้นลง

สำหรับในปี 67 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 6,500 ล้านบาท หรือเติบโต 19% จากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 5,439 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง 24% มาอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 4,400 ล้านบาท และรักษาระดับกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1,100 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ลดลงมาอยู่ที่ 17% จาก ที่อยู่ในระดับ 20% ในปี 66 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยบริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ระดับ 13-15% โดยในปีที่ผ่านมาอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับทั้งปีอยู่ที่ 13.2% จากสัดส่วนรายได้อาหารสัตว์เลี้ยงที่จะเพิ่มขึ้น และมั่นใจว่าจะสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการดำเนินงาน

ขณะที่ต้นทุนของเงินทุนยังอยู่ในระดับต่ำและบริษัทฯ ยังมีเงินสดและสภาพคล่องเพียงพอต่อการลงทุนตามแผนงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 ภายในปี 67 หลังจากที่ได้ชะลอโครงการไปเมื่อปี 66 ซึ่งคาดว่า ปี 67 จะใช้งบลงทุนทั้งหมดราว 430 ล้านบาท

“การเติบโตกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงจะมาจากทั้งกลุ่มรับจ้างการผลิตและแบรนด์ของบริษัทเอง เพราะมองว่าอุปสงค์ของกลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั่วโลกยังโตต่อเนื่องแม้จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้ออยู่บ้าง ปัจจุบันมีกำลังการผลิตแบบเปียกที่ 56,000 ตันต่อปี และน่าจะเพียงพอต่อการเติบโตไปอีกถึง 2 ปี (67-68) ทั้งจากการขยายตลาดลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่

อีกทั้งคาดว่าจะมีการเติบโตจากการขายอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ดเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มแบรนด์ของเรา และรับจ้างผลิต โดยเรามีแผนจะว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน นิวทริชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ผลิต” นายเอกราช กล่าว

โดยในส่วนของแบรนด์ บริษัทยังคงเน้นเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มยอดขายในอนาคต มุ่งใช้แผนการตลาดที่จะสามารถดึงดูดยอดขายได้ รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นตามความนิยมของตลาด ตลอดจนปรับกลยุทธ์ในการขายแบรนด์มองชูของไท่หยาที่ประเทศจีน โดยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ให้ครอบคลุมช่องทางใหม่ ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น ที่สำคัญคือการหาตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นที่มีศักยภาพมาทำการตลาดออฟไลน์ โดยมุ่งให้ยอดขายมองชูที่จีนเติบโตในทิศทางเดียวกับที่ไทยให้ได้

ทั้งนี้ ในปี 66 บริษัทฯ มีรายได้รวม 5,439 ล้านบาท ลดลง 23.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7,124 ล้านบาท แต่ถือเป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยปริมาณการขายอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 79 ของยอดขายรวม ลดลงมาอยู่ที่ 34,827 ตัน จาก 44,210 ตัน ในปีก่อนหน้า เนื่องจากคำสั่งซื้อชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ต้องปรับปริมาณสต๊อกให้เหมาะสมกับระยะเวลารอคอยสินค้า (Lead Time) ที่สั้นลงหลังระบบโลจิสติกส์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ยอดขายแบรนด์ของบริษัทไม่เพิ่มขึ้นเพราะการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะในตลาดภายในประเทศ

สำหรับยอดขายอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกมีปริมาณการขาย 6,646 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% และรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากทูน่าที่ตลาดส่งออกหลักเป็นตะวันออกกลางและซาอุดีอาระเบีย โดยมีราคาทูน่าเป็นปัจจัยบวก ท่ามกลางข้อจำกัดจากสถานการณ์ความไม่สงบในเขตทะเลแดงที่กระทบระยะเวลาและค่าขนส่ง แม้ว่าอาจหนุนให้มีการกักตุนสินค้าเพิ่มขึ้นได้บ้าง ขณะที่กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานที่เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่ายังมีสัดส่วนอยู่เพียง 3%

ด้านอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 13.2% ลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 19.9% เพราะต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นจากสัดส่วนยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าแรงและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่มีสัดส่วนเทียบยอดขายสูงขึ้นเนื่องจากมีอัตราการใช้กำลังการผลิตค่อนข้างต่ำ ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 383 ล้านบาท ลดลง 55.4% เมื่อเทียบ 859 ล้านบาทในปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 7% ซึ่งลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน

Company Snapshot

Back to top button