ตลาด EV ไทยเสี่ยงภัยคุกคาม หลังยอดผลิตรถ “จีน” ล้นตลาด-แข่งหั่นราคา

“บล.เกียรตินาคินภัทร” มองไทยเสี่ยงภัยคุกคามกระทบหนักมากขึ้น หลังอุตสาหกรรมยานยนต์ EV จีนล้นตลาด โดยเฉพาะกำลังการผลิตส่วนเกินของผู้ผลิตรถยนต์ในจีนและการแข่งขันด้านราคารถยนต์ของจีน


บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิวัติด้านอุตสาหกรรม EV ว่า ปัญหาใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของอุตสาหกรรม EV ในไทยคือ “กำลังการผลิตส่วนเกินของผู้ผลิตรถยนต์ในจีนและการแข่งขันด้านราคารถยนต์ของจีน”

ทั้งนี้ การผงาดขึ้นของจีนในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์ชั้นนำท่ามกลางสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เปลี่ยนตลาดอย่างแท้จริงสำหรับธุรกิจการผลิตรถยนต์ทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ความเสี่ยงในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็ขยายตัวตาม โดยผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะในกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มรถกระบะ (pick-up) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหน่วยการผลิตหลักของประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับการแข่งขันโดยตรงจากจีนกำลังการผลิตส่วนเกินที่เป็นผลมาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีนได้กระตุ้นให้เกิดการส่งออกรถยนต์จีนเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีความต้องการซื้อจากภายนอกไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานได้อย่างเต็มที่ โดยมีสาเหตุมาจากการกีดกันทางการค้าของประเทศจีนท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยข้อจำกัดที่เกิดจากมาตรการทางการค้าที่กำหนดโดยสหรัฐอเมริกา และยุโรปได้เบี่ยงเบนความสนใจของผู้ผลิตในจีนให้ส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดอาเซียน โดยอาจส่งผลเสียต่อผู้ผลิตรถยนต์ของไทย เนื่องจากจำนวนรถยนต์จากจีนที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศก่อให้เกิดการแทรกแซงในอุตสาหกรรมยานยนต์ และลดส่วนแบ่งการตลาดในตลาดส่งออกที่สำคัญ

ด้านจีนส่งออกรถยนต์ 4.9 ล้านคันในปี 2566 โดยจากจำนวนดังกล่าวมีสัดส่วนรถ EV จำนวน 1.2 ล้านคัน และมีส่วนที่เป็นรถกระบะที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) อยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผลกระทบจากรถกระบะของจีนจะมีอยู่อย่างจำกัดในตลาดท้องถิ่นของประเทศไทย เนื่องมาจากมาตรการป้องกันของรัฐบาลไทย

ในขณะเดียวกัน ตลาดส่งออกของไทยก็ยังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไทยยังคงสูญเสียส่วนแบ่งการขายรถกระบะให้กับคู่แข่งชาวจีน

ดังนั้น KKPS มองว่า เมื่อโครงการเงินอุดหนุนรถยนต์ EV สิ้นสุดลง การเลือกใช้งานรถยนต์ EV ก็ควรลดลงตามไปด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นสำหรับกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคลคือการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ของจีน

โดยหลังจากที่โครงการเงินอุดหนุนรถยนต์ EV สิ้นสุดลงในปลายปี 2567 โดยจะส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ระดับ 1 ของญี่ปุ่นตกอยู่ในความเสี่ยงโดยตรง จากความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตของจีน ดังนั้นตลาดยานยนต์ที่ทรงตัวจึงยังห่างไกลจากความเป็นจริง

นอกจากนี้ สัญญาณของการควบรวมกิจการในประเทศจีนเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยทางฝ่ายนักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่าจะช่วยเพิ่มการประหยัดต่อขนาดและความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตที่ยังอยู่รอด เนื่องจากมีการแข่งขันในตลาดลดลง ซึ่งการควบรวมกิจการจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งและกำหนดทิศทางภาพรวมของยานยนต์ทั่วโลก โดยจะเป็นการแทรกแซงระลอกใหม่ต่อประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับรถยนต์ที่มีต้นทุนที่สามารถแข่งกับไทยจากจีนในจำนวนมากขึ้น ทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก

สำหรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากจีนมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นมีสินค้าคงคลังที่ขายไม่ออกในระดับที่สูงขึ้น ทำให้เกิดแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของราคารถยนต์มือสอง ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถกระบะ

Back to top button