“ผยง” มองปีนี้ กนง. ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งรวม 0.50% ย้ำตั้งสำรองแนวโน้มดีขึ้น

“ผยง ศรีวณิช” เอ็มดีแบงก์กรุงไทย (KTB) คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 67 มีโอกาสปรับลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ส่วนแนวโน้มสินเชื่อจะดีขึ้น หรือเติบโต 3% จากเศรษฐกิจกลับมาคึกคัก ส่งผลการตั้งสำรองในปี 67 อยู่ในทิศทางที่ดี


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในภาพรวมของตลาดนั้นมีการมองกันว่า ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลดลงในปีนี้ประมาณ 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันที่ 10 เม.ย. 2567 อีกครั้งหนึ่ง

“ภาพรวมเศรษฐกิจจากนี้มีทิศทางดีขึ้น จากปัจจัยบวกที่รอคิวเข้ามาช่วยกระตุ้น ทั้งงบประมาณการเบิกจ่ายปี 2567 ที่เตรียมเร่งเบิกจ่าย การอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างเงินดิจิทัลวอลเล็ต ฯลฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกับมาคึกคักได้ หนุนให้สินเชื่อรวมปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 3% พร้อมกับมีโอกาสเติบโตทะลุเป้าหมายที่ 3% ได้เช่นกัน” นายผยง กล่าว

นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลถึงการตั้งสำรองหนี้เสียของธนาคารในปี 2567 ให้เป็นไปในทิศทางดีขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง จะกระทบกับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อย่างไรนั้น ไม่อยากให้นักลงทุนโฟกัสเรื่องนี้มากนัก เพราะกลไกโดยปกติแล้ว NIM มีปรับขึ้นปรับลง อยากให้มองภาพรวมของธนาคารมากกว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ห่วง SME และผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบ เพราะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร

สำหรับแผนธุรกิจธนาคารในปัจจุบันยังไม่มีแผนที่จะรุกธุรกิจไปยังต่างประเทศเพิ่มเติม พร้อมกับมองว่าไม่ได้เป็นการเสียโอกาส ส่วนเหตุผลที่ธนาคารยังโฟกัสลูกค้าในประเทศอยู่ เนื่องจากต้องการดึงคนที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาในระบบให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่ามีลูกค้าขนาดกลางและเล็กจำนวนมากที่ยังไม่มีข้อมูลในระบบที่ธนาคารสามารถนำมาประเมินสินเชื่อได้ จึงต้องการให้ความสำคัญในจุดนี้ก่อน แต่ในอนาคตก็จะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ขณะเดียวกัน ธนาคารอยู่ระหว่างทบทวนโมเดลธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่ทำร่วมกับพันธมิตร ก่อนที่จะมีการยื่นขอใบอนุญาตฯ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะต้องการทำอย่างรอบคอบ และมั่นใจว่าไม่น่าใช้เวลานานในการทบทวนโมเดล หากได้ข้อสรุปก็พร้อมยื่นขอใบอนุญาตจากธปท.ทันที (สำหรับกรอบการขอยื่นใบอนุญาตขอจัดตั้ง Virtual Bank วันสุดท้ายวันที่ 19 ก.ย. 2567)

นายผยง กล่าวเพิ่มเติมว่าจากที่ประชุมคณะกรรมการ่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ตระหนักถึงปัญหาของผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพแต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนนิติบุคคล

โดยยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว พร้อมปรับเงื่อนไขและเพิ่มทรัพยากรของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น

“ที่ประชุมกกร.มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ในกรอบประมาณการที่ 2.8-3.3% แต่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นอื่น ๆ และนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการปรับลดค่าธรรมเนียม FIDF อย่างที่เคยทำในอดีต ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว” นายผยง กล่าว

Back to top button