“แบงก์ชาติ” ยัน นโยบายการเงินสอดรับ “คลัง” ไทยไม่ได้เปราะบางเหมือนปี 40

“ธปท.” ยันจุดยืน นโยบายการเงินสอดรับ ก.คลัง ย้ำไม่ฉุดเศรษฐกิจ และไทยไม่ได้มีจุดเปราะบางทางการเงินเหมือนปี 40


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (11 เม.ย.67)  นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า การมองภาพการคลังเข้ามาในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งการทำนโยบายที่สอดประสานกับนโยบายทางการเงินนั้น ธปท. คำนึงถึงแรงกระตุ้น และแรงฉุดของภาครัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ทั้งทางนโยบายการเงินการคลังก็ควรสอดประสานกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในช่วงเกิดโควิดที่ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมกันเต็มที่โดย ธปท. ก็มีมาตรการกระตุ้นและ กระทรวงการคลัง ออกมาตรการเข้ามาเสริม

โดย กนง. ประเมินว่าจุดยืนนโยบายของ ธปท. เอื้อต่อเศรษฐกิจจะขยายตัวแบบมีศักยภาพในระยะยาวและไม่ได้เป็นอัตราดอกเบี้ยหรือจุดยืนนโยบายการเงินที่ขัดกับการให้เศรษฐกิจขยายตัวและฟื้นตัวเข้าไปสู่ศักยภาพ ซึ่งต้องแยกประเด็นเชิงวัฏจักรออกจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมถือว่าไม่ได้สูงมากถ้าเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด โดยเฉลี่ย3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยต่ำลงซึ่งเป็นปัญหาที่ ธปท.กังวลและเป็นห่วง

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ ภาพการผลิตที่มีประสิทธิภาพไม่สูงมากนัก การส่งออกที่แข่งกับต่างประเทศได้น้อยลง รวมถึงปัจจัยด้านประชากรที่เริ่มลดลง ขณะที่ปัญหาเชิงวัฏจักรจุดยืนนโยบายตอนนี้ไม่ได้ไปฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพร้อมกับภาคการคลังจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน

“ดังนั้น นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนช่วงที่เกิดโควิดก็ยังไม่ใช่สถานการณ์แบบนั้นที่เศรษฐกิจต้องการ เพราะอัตราการเร่งตัวของเศรษฐกิจขนาดนี้ถือว่าไม่ได้น้อยลง ยืนยัน ธปท. พิจารณานโยบายทางการคลังเสมอและทำให้สอดรับกันได้กับนโยบายทางการเงิน” นายปิติ กล่าว

สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจนโยบายการเงินของไทย แต่ยอมรับว่าอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอน และมีการเปิดเสรีการค้า การเงิน ทั้งนี้จุดแข็งของไทย คือ ไม่ได้มีจุดเปราะบางการเงินไม่เยอะเหมือนในปี 2540 ทั้งในแง่หนี้ต่างประเทศระยะสั้น และหนี้สกุลต่างประเทศ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ถือว่ามีกันชนที่แข็งแรง อย่างไรก็ดี ในแง่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะกระทบเยอะทั้งในแง่ผู้ส่งออก และนำเข้า หากมีการเคลื่อนไหวในทางเดียว ซึ่งความผันผวนดังกล่าวเชื่อว่าตลาดมีการซึมซับและดูทิศทางของเฟด

Back to top button