“พิพัฒน์“ ยืนยัน 1 ต.ค.นี้ ขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศทุกอาชีพ!

“รมว.แรงงาน” ยืนยัน 1 ต.ค.นี้ เตรียมประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ทุกอาชีพทั่วประเทศ ฟากสภาองค์การลูกจ้าง 18 องค์กร ยื่น 10 ข้อเรียกร้องรัฐบาลขึ้นค่าจ้างปรับสวัสดิการ แก้กฎหมายที่เป็นธรรม ขณะที่ "ก้าวไกล" ขอให้ผลักดัน พ.ร.บ.สหภาพแรงงานฉบับก้าวไกล และขยายสิทธิวันลาคลอด 180 วัน


วันนี้(1พ.ค.67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการเปิดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2567 ว่า ในปีนี้ก็กระทรวงแรงงานจัดงานค่อนข้างยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมกับการสรุปผลดำเนินงานของกระทรวง ที่ดำเนินการมาแล้วและเรื่องที่จะประกาศในอนาคต

โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้ประกาศว่าในปี 2567 นี้จะต้องได้เห็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 400 บาทต่อวัน ทุกกิจการทุกภาคส่วน ซึ่งในกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ก็ได้ประกาศชัดว่าจะมีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันในวันที่ 1 ต.ค.2567 นี้

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลาที่ล่าช้าเพราะต้องหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ต้องมีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ว่ากิจการใดมีความพร้อมหรือยังไม่พร้อม และถ้าหากยังไม่พร้อม ต้องทำอย่างไรให้พร้อม ซึ่งเรายังมีระยะเวลาจากนี้ไปอีก 5-6 เดือนในการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะชาว SME ที่เป็นผู้ถือครองแรงงานมากที่สุด

“แต่การประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายของรัฐบาลชัดเจน แต่เมื่อประกาศไปแล้วเราจะทำอย่างไรให้สมบูรณ์ที่สุด ฉะนั้นเมื่อประกาศค่าจ้าง 400 บาทแล้ว SME ยังคงต้องเดินต่อไปได้ ซึ่งทางกระทรวงแรงงานจะเชิญเจ้าของธุรกิจต่างๆ รวมถึง SME มาหารือกัน” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาคมธุรกิจโรงแรม ได้เข้ามาพบกับตนและแจ้งว่าพร้อมปรับค่าทางขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่ขอให้รัฐบาลช่วย Up-Re Skills ให้พนักงานด้วย ซึ่งตนจะนำข้อเสนอนี้ไปหารือกับท่านนายกฯ ว่าในการดำเนินงานต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ และอย่างไรบ้าง เพราะเป็นหน้าที่ของตนที่จะไปของบประมาณกลางมาทำการดำเนินการ

เมื่อถามย้ำว่า การปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาทต่อวันจะดำเนินการในรูปแบบใด ปรับขึ้นในทุกอาชีพและทุกจังหวัดทั่วประเทศหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เป็นการปรับขึ้นทุกอาชีพ ทั้งประเทศให้เป็น 400 บาทต่อวัน แต่ย้ำว่าในช่วง 4-5 เดือนนี้ จะต้องหารือร่วมกับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมว่าจะทำอย่างไรให้สามารถปรับขึ้นได้

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จะมีการประสานกับกระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่โดยร่วมกับกระทรวงแรงงานในการลงไปหาผู้ประกอบการในพื้นที่

“เราปรับเป็นค่าจ้างขั้นต่ำในภาพรวมทุกอาชีพทั่วประเทศ แต่หากอาชีพไหนไม่ไหวก็ขอให้แจ้งรัฐบาลเพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุนให้เดินหน้าได้” รมว.แรงงาน กล่าว

ถามย้ำว่า จะเป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ทั่วประเทศจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย ไม่ว่าจังหวัดนั้นจะเป็นปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่เดิมมีการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2 บาท ครั้งนี้เราจะปรับให้อยู่ในอัตราส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อที่จะเดินหน้าไปสู่วันละ 600 บาทในปี 2570

ถามว่า มีความกังวลหรือไม่ ในการปรับค่าจ้างเป็น 400 บาทต่อวัน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ได้ต่ำที่สุดคือวันละ 330 บาทในปัจจุบัน ที่จะต้องเพิ่มขึ้นถึง 70 บาท นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนคิดว่าตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ตนและปลัดกระทรวง ยังมีความกังวลในการปรับขึ้นเป็น 400 บาท จึงไม่ได้ประกาศไปในวันที่ 1 ม.ค.2567

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศผ่านไปแล้วมากกว่า 6 เดือน เศรษฐกิจดีขึ้นในภาคส่วนการท่องเที่ยว ก็มีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดภายในวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา

“ถามว่ากังวลหรือไม่ ก็มีความกังวลอย่างมาก แต่ผมจะต้องไปหารือกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะนักธุรกิจชาวต่างชาติ เพื่อดูว่าผู้ประกอบการไหวหรือไม่ หรือถ้าไม่ไหว อยากให้รัฐบาลช่วยอย่างไร นี่คือสิ่งผมและกระทรวงแรงงานจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม” นายพิพัฒน์

ด้านสภาองค์การลูกจ้าง 18 องค์กร เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิ์ในการรวมตัวของแรงงาน รวมถึงมาตรา 98 ที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของแรงงานเพื่อประโยชน์ของแรงงาน

โดยวันนี้ได้มีการเดินขบวนจากแยก จปร.ถนนราชดำเนินนอก ไปลานคนเมือง ซึ่งในปีนี้สภาองค์การลูกจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ทั้งหมด 10 ข้อ แก่รัฐบาล ได้แก่

1) รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98

2) ให้รัฐบาลตรา พ.ร.บ.หรือ ประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

3) ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

4) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1

6) ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33

รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

7) ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8) ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”

9) ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง

10) ให้ รมว.แรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

ด้านนายเซีย จำปาทอง ประธานเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ. สหภาพแรงงานฉบับก้าวไกล มีเนื้อหาสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และแรงงานที่เปลี่ยนไปสอดคล้องกับหลักการสากลภายใต้กรอบอนุสัญญา iILO 87, 98 ที่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานและผู้ว่าจ้างได้รับความเป็นธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างสังคมที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน

ขณะที่สิทธิลาคลอด 180 วันเป็นการเพิ่มสิทธิ์การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร โดยได้รับค่าจ้างและยังสามารถมอบสิทธิการลาของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตร คู่สมรส หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย ได้ลดภาระครอบครัว ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลก และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ การเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วันจะส่งผลดีต่อสุขภาพของมารดา บุตร สร้างภูมิคุ้มกันทางครอบครัวและความมั่นคงต่อสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมด้วย สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย หรือ สสรท. ที่เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มายังทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท และควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงไปกว่านี้ รวมถึงยื่นข้อเรียกร้องอื่นๆ อีก 13 ข้อเสนอเร่งด่วนได้แก่

1.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

1.1 รัฐต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ

1.2 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมทั้งแรงงานภาคเอกชน และการจ้างงานในภาครัฐ

1.3 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี เพื่ออนาคตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

1.4 รัฐต้องปรับเงินเดือนและบัญชีโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอของ สรส.

  1. รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชนลง เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง

2.1 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม

2.2 ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ พร้อมกับการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาใหม่ เลิกเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนทั้งระบบภาษี และ เก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายราคาต่อลิตรสูงมาก

2.3 ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต รัฐต้องไม่ปล่อยให้กิจการเหล่านี้ตกไปอยู่ในการบริหารจัดการของกลุ่มทุนเอกชน เพราะเป็นความสำคัญและจำเป็นของประชาชนในการดำรงชีพ

2.4 ลดราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จากการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน ถึงแม้ไม่ผลิตไฟฟ้าแต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” ทำให้ประชาชนทุกคน ทุกครัวเรือน สถานประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ เลิกสัญญาทาส ที่รัฐทำกับกลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กฟผ./กฟภ./กฟน. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 เพื่อความมั่นคงเรื่องพลังงานไฟฟ้า

3.รัฐบาลต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. ….

ข้อเสนอที่ติดตามจากปีก่อน ๆ

1.รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

1.1.ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการยกเลิกการออก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ยกเลิกการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ให้มีการตรวจสอบโครงต่าง ๆ ทั้งเรื่องมาตรฐาน และราคา ที่เป็นธรรมต่อประชาชน ให้มีความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริต

1.2.ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อปรับปรุงพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ เป็นเครื่องมือของรัฐในการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน

1.3.ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ

2.รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางภาษี โดยเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้าอย่างจริงจัง การจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นในอัตราที่ไม่น้อยจนเกินไป ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณแผ่นดิน ในการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคนทุกมิติ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน และขอให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ให้มีความเหมาะสม ไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อน และ ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

3.รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ดังต่อไปนี้

3.1 รัฐต้องตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตน ตามสัดส่วนผู้ประกันตนแต่ละพื้นที่ พร้อมกับผลิตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมเอง

3.2 สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน)

3.3 ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

3.4 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน รวมถึงให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยส่วนที่ค้างให้ครบ

3.5 ให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 , 39, 40 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

3.6 เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็น อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย

3.7 ขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

4.รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

4.2 ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ ทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

5.รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

5.1 ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน

5.2 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

5.3 ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ. 1981 (พ.ศ.๒๕๒๔)

๕.๔ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดากำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100%

5.4 ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนทำงานบ้าน

5.5 ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกของการทำงาน

6.ให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

7.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว

8.รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ

9.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือ การยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

10.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือ รัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย

11.รัฐต้องพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง และต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงานทุกภาคส่วน และ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

12.รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางานเหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน

13.ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

13.1 รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติใดชาติหนึ่งเพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรคและเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ

Back to top button