BOI เร่งผลักดัน “ฉางอาน-ไฮเซ่นส์” เข้าตลาดหุ้นไทย เปิดกว้างศูนย์กลางลงทุนระดับโลก

BOI เร่งผลักดันบริษัทยักษ์ใหญ่จีน “ฉางอาน-ไฮเซ่นส์” เข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย พร้อมเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 1/68 พุ่งทะลุ 4.3 แสนล้านบาท โต 97% มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยในงาน “เลขาธิการ BOI พบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน” ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ว่า หนึ่งในแนวทางสำคัญของ BOI คือการผลักดันให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยพิจารณานำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเพิ่มความหลากหลายและศักยภาพของตลาดทุนไทย โดยล่าสุด บริษัท ฉางอาน ออโต้โมบิล ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ของจีนซึ่งเตรียมเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจังหวัดระยอง ได้รับการเชิญชวนให้เข้าตลาดหุ้นไทย พร้อมกับบริษัทไฮเซ่นส์ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของจีนที่แสดงความสนใจในทิศทางเดียวกัน

โดยปัจจุบันบริษัทจีนหลายแห่งใช้ Financial Center ผ่านสิงคโปร์หรือฮ่องกง เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและการระดมทุนในตลาดต่างประเทศ ทำให้การเชิญชวนบริษัทเหล่านี้ให้มาเลือกจดทะเบียนในตลาดทุนไทยจำเป็นต้องมีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน โดยมีตัวอย่างความสำเร็จ เช่น บมจ. เดลต้า อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และ บมจ. แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย)

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธาน FETCO ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยประสบปัญหาขาดซัพพลายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ การเชิญชวนให้บริษัทต่างชาติเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย จึงเป็นโอกาสในการเติมเต็มตลาดด้วยเซ็กเตอร์ศักยภาพสูง พร้อมเปิดเผยว่า FETCO เตรียมตั้งทีมงานร่วมกับ BOI เพื่อพัฒนาโปรแกรมจูงใจ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม เพื่อแลกกับการเข้าจดทะเบียนในไทย และเดินหน้าปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดบริษัทข้ามชาติ

นายนฤตม์ เปิดเผยผลสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา BOI ได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดในประวัติการณ์ถึง 3,070 โครงการ มูลค่ากว่า 1.12 ล้านล้านบาท และในไตรมาสแรกปี 2568 มีคำขอเพิ่มขึ้น 20% คิดเป็นเงินลงทุนรวม 431,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 97% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ดิจิทัล, อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, ปิโตรเคมี และเกษตรแปรรูป

ขณะที่ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้มีมูลค่ารวม 267,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% โดยฮ่องกง ครองอันดับหนึ่ง รองลงมาคือจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนโครงสร้าง FDI จากฝั่งตะวันตกมาสู่เอเชียที่มีบทบาทสูงขึ้นถึงกว่า 80%

ทั้งนี้ BOI ยังเดินหน้าผลักดันการลงทุนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ BCG, ยานยนต์ xEV, เซมิคอนดักเตอร์, แผงวงจร PCB และดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ที่ได้รับการตอบรับจากค่ายรถชั้นนำอย่าง MAZDA, NISSAN, MITSUBISHI และ ISUZU ที่มีแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตใหม่ ขณะเดียวกัน BOI ยังสนับสนุนการจัดตั้ง Data Center และ Cloud Service เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค

โดยนับตั้งแต่ปี 2565 ถึงไตรมาส 1 ปี 2568 BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว 7,670 โครงการ สร้างงานกว่า 510,000 ตำแหน่ง ใช้วัตถุดิบในประเทศรวม 3 ล้านล้านบาท และส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 5.8 ล้านล้านบาท

เลขาธิการ BOI ย้ำว่า ไทยยังคงเป็นพื้นที่ลงทุนปลอดภัย (Safe Zone) สำหรับนักลงทุนทั่วโลก แต่ก็ต้องเร่งพัฒนาอีโคซิสเต็ม 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบ การยกระดับคุณภาพชีวิตของนักลงทุน และการขยายข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อแข่งขันในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ

Back to top button