“เกรียงไกร” เตือนไทยเร่งปรับตัว! จับตา 4 เสาหลักปฏิรูป SME สู่ Smart SME รับดีลโลกใหม่

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” เตือนภาคผลิตไทยเร่งปรับตัวรับกระแสเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมเสนอแผนปฏิรูป 4 เสาหลักเพื่อผลักดัน SME ไทยสู่ Smart SME และเรียกร้องการแก้กฎหมายล้าสมัยกว่า 1 แสนฉบับ เพื่อเปิดทางการลงทุน-สร้างโอกาสใหม่ให้เศรษฐกิจไทยก้าวทันโลก


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยบนเวทีเสวนาในงาน Thailand’s Capital Market Forum 2025 เกี่ยวกับ “โอกาสและความท้าทายลงทุนไทย” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.68 ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี (Digital Transformation) และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Shift) ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทย

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมรวม 47 กลุ่ม ซึ่งจัดอยู่ใน 11 คลัสเตอร์หลัก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่พัฒนาและเติบโตมาตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจเกษตรกรรมสู่ภาคการผลิตเมื่อกว่า 40-50 ปีก่อน โดยอาศัยปัจจัยด้านแรงงานราคาถูก ที่ดิน และภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยในการเป็นฐานการผลิตของต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงกระแส Disruption จากภายนอก เช่น การเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ได้เร่งให้หลายอุตสาหกรรมกลายเป็น “ของล้าสมัย” ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้การลงทุนของบริษัทแม่จากต่างประเทศชะลอลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สินค้าไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

โดยข้อมูลยังชี้ว่า การส่งออกของไทยที่สูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมานั้น เมื่อพิจารณาเชิงโครงสร้างแล้ว กลับพบว่าสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มจริงที่อยู่ในมือของคนไทยยังมีไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการผลิตภายใต้การควบคุมของต่างชาติ หรือร่วมทุนที่มีการถ่ายโอนผลประโยชน์ออกนอกประเทศ

ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นำไปสู่การปรับโครงสร้างการค้าโลก โดยเฉพาะในปี 2566 ที่เป็นปีแรกในรอบ 16 ปี ที่สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนอีกต่อไป โดยอาเซียนก้าวขึ้นมาแทนที่ ด้วยมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนกว่า 530,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าสหรัฐฯ ที่นำเข้าเพียงราว 400,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน กลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนสูงที่สุดในภูมิภาค โดยคิดเป็น 51% ของสินค้าที่จีนส่งมายังอาเซียน ทั้งนี้แม้เวียดนามจะมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงกว่าประเทศไทย แต่ไทยกลับมีการนำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่า ซึ่งเป็นความท้าทายที่ไทยต้องเร่งปรับตัวรับมือ

สำหรับการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม 24 อุตสาหกรรมหลัก ต้องเผชิญกับแรงกดดันและจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีและมูลค่าเพิ่มจากนวัตกรรม มากกว่าการเป็นเพียงฐานการผลิตราคาถูก

ขณะเดียวกัน ภาคสถาบันการเงินในประเทศก็เผชิญความท้าทายอย่างหนักจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน ซึ่งเปรียบเสมือนวิกฤตรูปแบบใหม่ที่ค่อย ๆ ทวีความรุนแรง จนถึงจุดที่ยากต่อการตั้งรับ ผู้บริหารในแวดวงธนาคารจึงมองว่าภารกิจสำคัญคือการรักษาความสามารถในการดูแลลูกค้าภายในประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงที่มาจากทั้งในและนอกประเทศ

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า แม้โลกกำลังเผชิญความไม่แน่นอนจากภาวะการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ในวิกฤตย่อมแฝงด้วยโอกาส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ภายใต้บทบาทของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้ผลักดันการปฏิรูปภาครัฐอย่างจริงจัง เช่น การตั้งกระทรวงใหม่ Department of Government Efficiency และลดงบประมาณรัฐบาลกลางลง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้เป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก ยังต้องเร่งปฏิรูปเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

โดยประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามเองก็ได้เริ่มปรับโครงสร้างรัฐ ลดขนาดกระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่สามารถลดกฎหมายจากกว่า 12,000 ฉบับ เหลือเพียง 4,000–5,000 ฉบับ ทำให้ GDP ขยายตัวทันที 4% และผลักดันประเทศสู่กลุ่มผู้นำเศรษฐกิจโลก ขณะที่ประเทศไทยยังมีกฎหมายล้าสมัยกว่า 1 แสนฉบับ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดการลงทุน และการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ นายเกรียงไกร ได้เสนอแนวทางผลักดันการปฏิรูป 4 เสาหลักในการเปลี่ยน SME ให้เป็น Smart SME ได้แก่ (1) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้จริง โดยร่วมมือกับกระทรวง อว. และบอร์ด AI แห่งชาติ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง AI ในภูมิภาค (2) การส่งเสริมนวัตกรรมภายใต้กองทุนนวัตกรรมมูลค่า 2,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน Startups ไทย (3) การขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และ (4) การสนับสนุนธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความยั่งยืน อาทิ พลังงานสะอาดและการบริหารจัดการน้ำ

นอกจากนี้ยังย้ำถึงความจำเป็นในการให้เวลาภาคอุตสาหกรรมปรับตัวอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) แทนการล้มกระทันหัน พร้อมตั้งเป้าให้ 50% ของสมาชิกกว่า 16,000 รายในสภา สามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจภายใน 3–5 ปี

“หากประเทศไทยต้องการใช้โอกาสจากกระแสโลก เราต้องเริ่มจาก “การไม่ปิดโอกาสตัวเอง” ด้วยการรื้อและปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย เปิดทางให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างมั่นคง” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button