ยังไม่จบ! ศึก “เนสท์เล่” ฟ้องเลิกกิจการ QCP ศาลสั่ง “มหากิจศิริ” ส่งบัญชีรายเดือน

“ศาลแพ่ง” มีคำสั่งให้กรรมการฝ่าย “มหากิจศิริ” จัดทำบัญชี QCP รายเดือน ส่งให้ตรวจสอบภายใน 15 ส.ค.นี้ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่บัญชีเดือนมี.ค.68 เป็นต้นไป เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ “เนสท์เล่” ระหว่างกระบวนการยกเลิกกิจการ QCP ที่ยังไม่สิ้นสุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ นายเฉลิมชัย สุวิมล และนายประยุทธ มหากิจศิริ ในฐานะกรรมการบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของบริษัท QCP เป็นรายเดือน เพื่อจัดส่งต่อศาลและบริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย จำกัด ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เริ่มตั้งแต่บัญชีเดือนมีนาคม 2568 เป็นต้นไป โดยต้องส่งบัญชีของเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2568

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นระหว่างการพิจารณาคดีที่เนสท์เล่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อขอให้มีคำสั่งเลิกกิจการบริษัท QCP และแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี โดยอ้างอิงตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการแห่งสถาบันอนุญาโตตุลาการหอการค้านานาชาติ ซึ่งตัดสินให้เนสท์เล่เป็นฝ่ายชนะในการยุติสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มมหากิจศิริ

ศาลได้พิจารณาเอกสารประกอบคำร้อง พร้อมพยานหลักฐาน ซึ่งสะท้อนความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่าย และความล้มเหลวในการเจรจา ส่งผลให้เนสท์เล่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจร่วมกับกลุ่มมหากิจศิริได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาบ้างอย่างของกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท QCP

จากเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องออกคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของเนสท์เล่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท QCP และเนสท์เล่ระหว่างการพิจารณาคดี โดยการจัดส่งบัญชีดังกล่าวจะใช้แทนการแต่งตั้งบริษัท แกรนท์ ธอนตัน เข้าทำหน้าที่จัดการและรักษาทรัพย์สินของบริษัท QCP ในชั้นนี้

ทั้งนี้ การที่ศาลมีคำสั่งให้กลุ่มมหากิจศิริจัดทำและส่งบัญชีรายเดือนของบริษัท QCP จะไม่กระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดีที่เนสท์เล่ยื่นฟ้องขอให้เลิกกิจการ QCP ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

สำหรับบริษัท QCP เคยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเนสท์เล่และกลุ่มมหากิจศิริในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2567 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในประเทศไทย โดยแบรนด์และเทคโนโลยีการผลิตทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารของเนสท์เล่ ซึ่งภายหลังการยุติการร่วมทุน บริษัทเนสท์เล่ยังคงมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตเนสกาแฟแห่งใหม่ในไทย และยังเป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศ

Back to top button