
KKPS ชี้ ภาษีทรัมป์ 36% เสี่ยงเขย่า GDP ไทยหดตัวปีละ 0.5–0.6%
KKPS ประเมินภาษีทรัมป์ที่ 36% กระทบส่งออกไทยวงกว้างหากบังคับใช้เต็มปีฉุด GDP หดตัว 0.5–0.6% ต่อปี ชี้มาตรการสหรัฐบีบไทยเร่งเจรจา ปรับท่าทีบนเวทีโลก
บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS ระบุผ่านบทวิเคราะห์ถึงทิศทางผลกระทบจาก ภาษีสหรัฐ ภายหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการ ภาษีตอบโต้ เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจาก 14 ประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ หลังมีการหยุดชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เลือกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประเทศไทยอยู่ที่ 36% ซึ่งสูงกว่า เวียดนาม ที่เรียกเก็บ 20%, มาเลเซีย อยู่ที่ 24% และเกาหลีใต้ อยู่ที่ 25% โดยมาตรการนี้ จะมีผลบังคับใช้ใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า และครอบคลุมสินค้าทุกประเภทที่ส่งออกจากประเทศไทยไปสหรัฐฯ
ขณะที่ ประเทศไทยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากภาษีดังกล่าว ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีความร่วมมือด้าน ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) หรือ ความผูกพันทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ
โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ราว 38,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์, ยางพารา, ชิ้นส่วนยานยนต์ และอาหารแปรรูป ขณะที่บางรายการยังคงได้รับการยกเว้น
ฝ่ายนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามาตรการภาษี 36% ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย แต่มองเป็น “หมากต่อรอง” เพื่อนำไปสู่การขอสัมปทานหรือการเจรจารอบใหม่ อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ประเทศไทยจะมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯแล้ว ประเทศยังขาดบทบาทสำคัญในภูมิศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ อีกด้วย ขณะนี้ ยังคงมีช่องว่างสำหรับการเจรจา การยกเว้นบางประการ หรือการทำข้อตกลงในระดับอุตสาหกรรม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง ฝ่ายนักวิเคราะห์ประเมินว่า หากอัตราภาษีถูกขยับจาก 10% เป็น 36% แบบเต็มปีจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP ประเทศไทยปีละ 0.5-0.6% โดยคิดจากสมมติฐานของสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่บวกมูลค่าเพิ่มแล้วในสัดส่วน 30%
ความเสี่ยงดาวไซด์ (Downside risk) ต่อประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 อาจอยู่ที่ 0.2% ซึ่งเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคในครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ระบุชัดว่าต้องการให้ประเทศไทยดำเนินการอย่างไร เพื่อแลกกับการลดภาษี ขณะที่รายงานการกีดกันทางการค้าของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา USTR ปี 2568 ระบุเกี่ยวกับอัตราภาษีในภาคการเกษตรใบอนุญาตนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลือง มาตรฐานสุขอนามัยสำหรับเนื้อหมู-เนื้อวัว-ผลิตภัณฑ์นม ตลอดจนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและบริการ
ฝ่ายวิเคราะห์ระบุว่าคำขาดด้านภาษีของสหรัฐฯ สร้างแรงกดดันให้ประเทศไทยต้องตัดสินใจเลือก ได้แก่ 1.) เปิดกว้างด้านภาคส่วนที่อ่อนไหว โดยเฉพาะภาคการเกษตรให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันมากขึ้นเพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกและดึงดูดการลงทุน (ทั้งนี้ แม้ภาคการเกษตรจะไม่ได้มีขนาดใหญ่ แต่มีความอ่อนไหวสูงในเชิงการเมือง)
2.) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าข้ามแดน และแหล่งที่มาของสินค้า โดยมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของไทยกับจีน ซึ่งให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทาน