นับถอยหลัง! “หวยเกษียณ” จ่อเข้าสภา 23 ก.ค.นี้ ชี้ชะตาวาระ 2-3 ก่อนเปิดขายจริง

ใกล้ความจริงเข้ามาทุกขณะ สำหรับนโยบาย "หวยเกษียณ" โดยล่าสุดมีความคืบหน้าสำคัญ เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ​ในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในชั้นสภาฯ เพื่อปลดล็อกให้ กอช. สามารถออกและจำหน่าย "สลาก กอช." หรือหวยเกษียณได้อย่างเป็นทางการ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ค. 68) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ “10 ปี กอช. ศุกร์ได้ลุ้น สุขได้ออม กับหวยเกษียณ”) โดยมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี พร้อมหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มาร่วมงานคับคั่ง อาทิ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส., ธอส., ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ทัณฑสถานหญิงกลางและนครราชสีมา, บสย., กยศ., TrueMoney, AIS และ ShopeePay ซึ่งต่างร่วมออกบูธให้คำแนะนำด้านการออมและการเงิน สะท้อนถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างวินัยการออมและเตรียมความพร้อมให้คนไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างมั่นคง

นายเผ่าภูมิ เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่า ในยุคที่ประเทศเผชิญความท้าทาย ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความผันผวนของระบบการเงินโลกและการค้าระหว่างประเทศ การสร้างวินัยการออมในระดับครัวเรือนจึงเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับการจัดงาน 10 ปี ของ กอช. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวใหม่ที่นำเสนอเรื่อง “หวยเกษียณ” ในฐานะนวัตกรรมทางการเงิน ภายใต้แนวคิด “ซื้อหวยเงินไม่หาย กลายเป็นเงินออม” โดยใช้พฤติกรรมการซื้อหวยที่มีอยู่แล้วในคนไทยมาต่อยอด เพื่อให้คนไทยสามารถออมเงินได้อย่างทั่วถึง

นายเผ่าภูมิ ยังระบุว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายสนับสนุนการออมที่เข้าถึงได้สำหรับทุกกลุ่มอาชีพ และ “หวยเกษียณ” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มเงินออมของประชาชนทุกคน โดยจะขับเคลื่อนร่วมกันผ่านความร่วมมือระหว่าง กอช. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ….จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ กอช. มีหน้าที่และอำนาจในการออกและจำหน่าย “หวยเกษียณ” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนออมเงินผ่านการลุ้นรางวัล และสร้างระบบการออมที่ยั่งยืนรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย

“สลาก กอช.” หรือ “หวยเกษียณ” เป็นสลากขูดดิจิทัล ราคาฉบับละ 50 บาท เปิดจำหน่ายให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถซื้อได้สูงสุดเดือนละ 3,000 บาท (60 ฉบับ) ผ่านแอปพลิเคชัน “กอช.” โดยจะมีการออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. ประกอบด้วย:

รางวัลที่ 1: มูลค่า 1 ล้านบาท (5 รางวัล)

รางวัลที่ 2: มูลค่า 1,000 บาท (10,000 รางวัล)

โดยผู้ที่ถูกรางวัลจะได้รับเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ทันที ที่สำคัญคือ เงินทุกบาทที่ใช้ซื้อสลากจะถูกสะสมไว้เป็นเงินออม และผู้ซื้อสลากจะได้รับเงินออมพร้อมผลประโยชน์เป็นก้อนใน 4 กรณี ดังนี้:

  1. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
  2. อายุมากกว่า 60 ปี จะได้รับเงินคืนทั้งหมดเมื่อครบ 5 ปี นับแต่วันที่ซื้อสลาก และสามารถซื้อต่อไปได้คราวละ 5 ปี
  3. ทุพพลภาพ หรือ เสียสัญชาติไทย
  4. เสียชีวิต คืนเงินให้แก่บุคคลที่ระบุไว้ หรือทายาท

ด้าน นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. กล่าวถึงบทบาทและผลการดำเนินงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมาว่า กอช. ทำหน้าที่เป็นกลไกการออมเพื่อสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป อายุ 15 – 60 ปี ที่ไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญจากรัฐ เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ยามชราภาพ

อีกทั้ง กอช. เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ด้วยสมาชิกเริ่มต้นเพียง 300,000 คน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กอช. ได้ขยายช่องทางการออมที่สะดวกทันสมัย และสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2565 เมื่อ กอช. ขับเคลื่อน “วาระการออมแห่งชาติ” และผลักดันการปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มเพดานการออมจากปีละ 13,200 บาท เป็นสูงสุด 30,000 บาท และ เพิ่มเงินสมทบจากรัฐจากไม่เกิน 1,200 บาท เป็น 1,800 บาทต่อปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออมได้มากขึ้นและได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน กอช. มีสมาชิกกว่า 2.7 ล้านคน และมีทรัพย์สินกองทุนรวมกว่า 15,152 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568)

นางสาวจารุลักษณ์ กล่าวเสริมว่า กอช. ยังขยายโครงการสร้างวินัยการออมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักเรียน นักศึกษา แรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง และผู้ต้องขังในโครงการ “สร้างชีวิตใหม่” เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสการออมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนงานผ่านกระทรวงมหาดไทย ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงการสร้างตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้านให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ในส่วนช่องทางการรับสมัครและส่งเงินออม กอช. ได้ขยายผ่านธนาคารกรุงไทย, ออมสิน, ธอส., ธ.ก.ส., ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และเคาน์เตอร์เซอร์วิส และยังยกระดับการให้บริการเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว โดยสามารถสมัครสมาชิกและส่งเงินออมผ่านแอปพลิเคชัน “กอช.” และพันธมิตรดิจิทัลชั้นนำอย่าง ทรูมันนี่, MyAIS และ ShopeePay ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ที่ทุกการออมทำได้แค่ปลายนิ้วสัมผัส

อย่างไรก็ตามในวาระครบรอบ 10 ปีนี้ นางสาวจารุลักษณ์ ย้ำว่า กอช. ยังเปิดตัว “สลาก กอช.” หรือ “หวยเกษียณ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมการออมรูปแบบใหม่ โดยรัฐบาลมุ่งหวังให้ “หวยเกษียณ” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการขยายโอกาสการออมให้กับคนไทยทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม กอช. จะเดินหน้ายกระดับบริการต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบการออมที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชน สร้างอนาคตที่มั่นคงให้คนไทย ก้าวข้ามความเสี่ยงของสังคมสูงวัยอย่างมั่นใจ

ด้าน ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงประเด็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยและความมั่นคงทางรายได้หลังเกษียณของประเทศไทยว่า จากข้อมูลของธนาคารโลก ระบุว่ารายได้หลังเกษียณที่เพียงพอควรอยู่ที่อย่างน้อย 50–60% ของรายได้ก่อนเกษียณ แต่แรงงานในระบบของไทยมีรายได้หลังเกษียณเฉลี่ยเพียง 41% ขณะที่แรงงานนอกระบบมีรายได้หลังเกษียณต่ำกว่า 5% และมีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ภาครัฐต้องหามาตรการเพิ่มแรงจูงใจในการออม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ในยามเกษียณให้กับประชาชนทุกกลุ่ม

ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยว่า จากข้อมูลของธนาคารโลก ชี้ว่ารายได้หลังเกษียณที่เพียงพอควรอยู่ที่อย่างน้อย 50–60% ของรายได้ก่อนเกษียณ แต่ปัจจุบันแรงงานในระบบของไทยมีรายได้หลังเกษียณเฉลี่ยเพียง 41% ขณะที่แรงงานนอกระบบมีรายได้หลังเกษียณต่ำกว่า 5% และมีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ภาครัฐต้องหามาตรการเพิ่มแรงจูงใจในการออม

ดร.วโรทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลต่อโครงสร้างรายได้ รายจ่ายของภาครัฐ และอาจกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดลงของสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง

ขณะที่รัฐต้องใช้งบประมาณในการดูแลสวัสดิการด้านบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งเบี้ยยังชีพ เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ และเงินสมทบกองทุนการออมเพื่อการเกษียณต่าง ๆ โดยในปี 2567 ภาครัฐใช้งบประมาณด้านสวัสดิการบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุรวม 500.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2557 ที่ใช้งบประมาณ 253.4 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของงบประมาณ

นอกจากนี้ยังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว ภาครัฐจึงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออมเงินด้วยตนเองผ่าน “หวยเกษียณ” ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณ และลดภาระงบประมาณของรัฐ โดยโครงการหวยเกษียณใช้งบประมาณเงินรางวัลปีละ 780 ล้านบาท แต่จะช่วยเพิ่มเงินออมเพื่อการเกษียณให้กับประเทศปีละ 13,000 ล้านบาท หรือทุก 1 ล้านบาทที่รัฐใช้เป็นเงินรางวัล จะช่วยเพิ่มเงินออมเพื่อการเกษียณได้ถึง 16.6 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีเงินจำนวนนี้จะไม่เพียงแต่อยู่ในบัญชีเงินออม แต่จะถูกนำไปลงทุนต่อในตลาดทุน ทำให้มีเงินไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ทำให้มีเงินหมุนเวียนในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ในประเทศ นำไปสู่การจ้างงาน และการกระจายรายได้สู่ประชาชน ในที่สุดแล้ว ไม่เพียงแต่ประชาชนจะได้ประโยชน์จากเงินออมของตัวเอง แต่ประเทศก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

Back to top button