“วิทัย” เตือนเศรษฐกิจไทยเปราะบาง ซ้ำซ้อนปัจจัยลบ แนะเร่งออม-ลงทุน–บริหารหนี้

“วิทัย รัตนากร” ผอ.ออมสิน ชี้เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง เร่งวางแผนการออม-ลงทุน-ลดหนี้ หนุนบทบาทธนาคารออมสินเป็น Social Bank สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ประชาชน


นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ร่วมเป็นวิทยากรใน โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2568” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยระบุว่า เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ว่า ประเทศกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจเปราะบางจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน โดยกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักอย่างภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวอ่อนแรงลงพร้อมกัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน ความสามารถในการแข่งขัน สังคมสูงวัย และความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวในระยะยาว

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เน้นย้ำคือ “การออม” ซึ่งยังคงเป็นจุดอ่อนสำคัญของสังคมไทย โดยระบุว่า “การออมนี่มีปัญหาจริง ๆ ของเมืองไทย อย่าพูดถึงหนี้อย่างเดียว ออมก็มีปัญหา” พร้อมแนะนำให้ประชาชนเริ่มต้นวางแผนการออมตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว และไม่ควรเริ่มออมช้ากว่าอายุ 40 ปี เนื่องจากหากเริ่มช้าเกินไป อาจจำเป็นต้องทำงานหลังเกษียณเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย โดยตัวอย่างการคำนวณเป้าหมายเงินออมเพื่อการเกษียณเบื้องต้น เช่น หากต้องการใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 25 ปีหลังเกษียณ ควรมีเงินออมสะสมประมาณ 9-10 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์การออม ยังคงแนะนำให้ “ออมก่อนใช้” เป็นหลัก เช่น การตัดยอดเงินออมจากรายได้ประจำทันทีที่เงินเดือนเข้า และเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นควรเก็บส่วนเพิ่มไว้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด เพื่อป้องกันการขยายตัวของรายจ่าย นอกจากนี้ ยังเน้นว่าการออมในบัญชีเงินฝากเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อจะกัดกร่อนมูลค่าเงินในระยะยาว จึงควรพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น สลากออมสิน หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และพันธบัตรรัฐบาล พร้อมแนะนำแนวทางกระจายความเสี่ยง และการลงทุนแบบ DCA เพื่อสร้างวินัยการลงทุนระยะยาว

ส่วนในด้านของปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยยอมรับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องการการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจต้องฟื้นตัวก่อนเพื่อให้รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้นและสามารถชำระหนี้ได้ ขณะเดียวกันควรมีมาตรการลดภาระดอกเบี้ย เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะทางอย่างมีเป้าหมาย

สำหรับการบริหารหนี้รายประเภท ได้ให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติ เช่น หนี้บ้านซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำที่สุด ควรรีไฟแนนซ์หรือเจรจาลดดอกเบี้ยทุก 3 ปี และควรนำรายได้พิเศษมาโปะหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยระยะยาว ส่วนหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 16% ไม่แนะนำให้มี หากมีควรรีไฟแนนซ์เข้าสู่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลหรือการขอวงเงินเพิ่มเติมจากสินเชื่อบ้าน (Top-up) และไม่แนะนำให้ยุ่งเกี่ยวกับสินเชื่อ Non-Bank หรือนาโนไฟแนนซ์ที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 25-36% ต่อปี หรือหนี้นอกระบบที่มีลักษณะเอารัดเอาเปรียบอย่างรุนแรง โดยสนับสนุนให้นำหนี้เหล่านี้เข้าสู่ระบบสถาบันการเงินที่มีโครงการช่วยเหลือ เช่น โครงการรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบของธนาคารออมสิน

ในมุมมองด้านบทบาทองค์กร ย้ำว่าธนาคารออมสินในยุคปัจจุบันทำหน้าที่เป็น “สองธนาคารในหนึ่งเดียว” โดยมีทั้งบทบาทของธนาคารพาณิชย์เชิงธุรกิจ และธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) ที่นำกำไรจากธุรกิจไปสนับสนุนโครงการสาธารณะต่างๆ เป้าหมายคือการช่วยเหลือประชาชนอย่างน้อย 2 ล้านรายต่อปีในรูปแบบที่มีผลจริง ไม่ใช่เพียงเชิงทฤษฎี

โครงการหลักของธนาคารออมสินภายใต้แนวคิด “Creating Shared Value (CSV)” ได้แก่ การสร้างโอกาสทางการเงินให้ผู้ที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อ เช่น โครงการสินเชื่อสร้างเครดิต 10,000-20,000 บาท, โครงการแก้หนี้ ยกหนี้ รีไฟแนนซ์หนี้ดอกเบี้ยสูง และการพัฒนาอาชีพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งนี้ ธนาคารยังได้ปรับลดต้นทุนการบริหารจัดการจาก 42,000 ล้านบาท เหลือเพียง 32,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรไปใช้ในภารกิจเพื่อสังคมได้อย่างเต็มที่

“โดยการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้จะต้องอาศัย “ความร่วมมือแบบบูรณาการ” จากทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่หนึ่งหรือสองหน่วยงาน แต่ต้องมีการสอดประสานเป้าหมาย ร่วมกันออกมาตรการที่ตอบโจทย์ความเป็นจริง และเข้าใจลักษณะเฉพาะของปัญหา พร้อมระบุว่า “ไม่มีมาตรการใดกดปุ่มแล้วหายได้ทันที แต่มันจะค่อยๆ บรรเทา เมื่อเราทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง” นายวิทัย กล่าว

Back to top button