สอยด่วน! SNC พี/อีต่ำ-อัพไซต์หรู เตรียมรับอานิสงส์หน้าร้อน

สอยด่วน! SNC รับอานิสงส์หน้าร้อน ออร์เดอร์ชิ้นส่วนเครื่องทำความเย็นเพียบ มั่นใจกำไรปีนี้โตโดดเด่น ลุยผลิตไฟฟ้าใช้เองในโรงงาน โบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” เป้าสูง พ่วง P/E ต่ำ-อัพไซต์หรู


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ของบริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC หลังจากมองว่าเป็นช่วง High Season ของธุรกิจ ขณะที่บริษัทมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้านนักวิเคราะห์มองว่าในปี 60 บริษัทจะเติบโตอย่างโดดเด่น โดยในช่วงไตรมาส 2/60 บริษัทจะเริ่มผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานจากโครงการโซลาร์รูฟท็อป จึงทำให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ธุรกิจด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มองว่าผลประกอบการของบริษัทในปี 60 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ด้าน P/E ยังต่ำกว่ากลุ่มและต่ำกว่าตลาด โดยล่าสุด ณ วันที่ 20 มี.ค.60 P/E อยู่ที่ 12.47 เท่า ขณะที่ P/E กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร อยู่ที่ 23.62 เท่า ส่วน P/E ตลาด (SET) อยู่ที่ 17.25 เท่า นอกจากนี้ราคาหุ้นยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายสูงสุดที่นักวิเคราะห์ให้ที่ 20 บาท อยู่ 16.28% จากราคาหุ้นปิดตลาดวานนี้ (21 มี.ค.) อยู่ที่ 17.20 บาท ปรับตัวลง 0.20 บาท หรือ 1.15% ด้านมูลค่าซื้อขาย 143.17 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ นายสามิตต์ ผลิตกรรม กรรมการผู้จัดการ SNC เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการ ทั้งในแง่รายได้และกำไรสุทธิปีนี้จะดีกว่าปีก่อนแน่นอน ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะคำสั่งซื้อชิ้นส่วนของเครื่องปรับอากาศที่ใช้สำหรับยานพาหนะ และเครื่องทำความเย็น ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น

ขณะที่ในช่วงไตรมาส 2/60 จะเริ่มมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะนำไฟฟ้ามาใช้ในโรงงาน 1 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตทั้งหมด 3.4 เมกะวัตต์ โดยส่วนที่เหลือจะขายให้กับการไฟฟ้าฯนั้น จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้กว่า 10 ล้านบาท/ปี

รวมถึงผลการดำเนินงานบริษัทย่อย คือ บริษัท เอส เอ็น ซี ครีเอติวิตี้ แอนโทโลจี หรือ SCAN , บริษัท เอส เอส เอ็ม ออโต้เมชั่น จำกัด หรือ SSMA ,บริษัท เมอิโซะ เอสเอ็นซี พรีซิชั่น หรือ MSPC , บริษัท เอส เอ็น ซี ฟุกุอิ โฮลี อินซูเลชั่น หรือ SFHI ได้มีการปรับโครงสร้างภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ปีนี้จึงจะไม่ได้รับผลกระทบจากผลขาดทุนจากบริษัทย่อยอีก

“ด้วยการปรับโครงสร้างของบริษัทย่อย ทำให้ผลกระทบจากบริษัทย่อยไม่มีอีก และการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป จะช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้กว่า 10 ล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกันธุรกิจของเราทั้งด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าผลประกอบการทั้งในแง่รายได้และกำไรจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปี 59″ นายสามิตต์ กล่าว

ขณะที่บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว 300-400 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ โดยเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น ในจังหวัดระยอง กำลังการผลิตราว 3 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขอรอความชัดเจนจากภาครัฐในเรื่องของสัญญาซื้อขาย (PPA) โดยเบื้องต้นวางงบลงทุนไว้ 240 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าโครงการจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ในระดับ 20% และคาดว่าภายใน 5 ปีจะสามารถคืนทุนได้ทั้งหมด

 

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ซื้อ” SNC ราคาเป้าหมาย 20 บาท/หุ้น โดยฝ่ายวิจัยคาดกำไรสุทธิปี 2560 จะกลับมาเติบโตแข็งแกร่ง 18.8% จากปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์บวกจากการย้ายโรงงานมารวมกันที่จังหวัดระยอง ซึ่งทำให้มีโอกาสได้ลูกค้าเพิ่มเติมจากการเป็น One Stop Service รวมถึงประสิทธิภาพในการผลิตและการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น

ขณะที่การก้าวสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนฝ่ายวิจัยมองว่าจะช่วยเสริมความมั่นคงในแง่การดำเนินงานระยะยาว แต่ฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมโครงการดังกล่าวไว้ในประมาณการ จึงปรับลดราคาเหมาะสมลงเหลือ 20 บาท ขณะที่ Dividend Yield คาดยังสูงกว่า 6% ต่อปี ขณะที่ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วง High Season จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

 

ส่วนนักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” SNC ราคาเป้าหมาย 19.40 บาท/หุ้น โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560-2561 เติบโต 16% และ 13% เป็น 466 และ 525 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีสมมติฐานว่า บริษัท เอส เอ็น ซี ครีเอติวิตี้ แอนโทโลจี หรือ SCAN (บริษัทย่อย) จะขาดทุนลดลงจากปี 59 ราว 30%, ไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษอย่างมีนัยสำคัญ แต่ราคาต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก

ขณะเดียวกันบริษัทสร้างสายการผลิตที่จ.ระยองให้ครบวงจร เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจเรื่องการผลิต & ส่งมอบ ทำให้มีต้นทุนในการผลิตและค่าขนส่งต่ำลง บริษัทมีทั้งการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก & โลหะ แผ่นโลหะ ท่อ ฮีทเอ็กเชนเจอร์ และการประกอบเครื่องปรับอากาศ ซึ่งต้นทุนที่ลดลงก็ทำให้ขายสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งขันได้ ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับออเดอร์จากลูกค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับการลงทุนในโซลาร์รูฟทอป มูลค่าโครงการ 160 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น 40% ของเงินลงทุน (โดยมีเงื่อนไขต้องขายคาร์บอนเครดิตให้ญี่ปุ่น 50% และอีก 50% รัฐบาลไทยได้ไป) ยังผลให้บริษัทลงทุนเอง 96 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 3.43 เมกะวัตต์ (นำมาใช้ในโรงงาน 1 เมกะวัตต์ ที่เหลือขายให้การไฟฟ้าฯ) คาดว่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ 10 ล้านบาท/ปี เริ่มผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/60 เป็นต้นไป  (ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ระยองของ SNC อยู่ที่ 15 เมกะวัตต์ และกำลังศึกษาดูว่าจะขยายการผลิตเพิ่มได้อีกหรือไม่ ในเบื้องต้นเห็นว่าเฉพาะส่วนหลังคาติดตั้งได้เพิ่มอีก 1 เมกะวัตต์)

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส แนะนำ “ซื้อ” SNC ราคาเป้าหมาย 19 บาท/หุ้น โดยแนวโน้มกำไรปกติปี 2560 คาดกลับมาเติบโตอีกครั้ง 15% จากปีก่อน เท่ากับ 456 ล้านบาท จากยอดขายเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน ที่ 7.90 พันล้านบาท แรงขับเคลื่อนจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (สัดส่วน 40%) ที่เห็นออเดอร์เพิ่มจากลูกค้าใหม่ กอปรกับราคาทองแดงที่สูงขึ้นช่วยให้บริษัทสามารถปรับราคาขายขึ้นได้

ด้านธุรกิจ OEM/ODM (สัดส่วน 42%) เริ่มฟื้นตัวหลังจากการย้ายโรงงานไปยัง จ.ระยองเสร็จสิ้น หนุนออเดอร์จากลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ด้าน Gross Margin ประเมินทรงตัวจากปีก่อนหน้าที่ 12.9% ขณะที่ SG&A/Sales ลงมาอยู่ที่ 6.9% เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการย้ายโรงงาน 30 ล้านบาทเหมือนปีก่อน อีกทั้งคาดค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัทย่อยที่ใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ ลดลงจาก 48 ล้านบาทในปีก่อน หลังการใช้อัตราการผลิตปีนี้ที่มีแนวโน้มดีขึ้น

ขณะที่โรงงานแห่งใหม่ที่ จ.ระยอง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งธุรกิจ OEM/ODM และ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าจากการรวมสายการผลิตตั้งแต่ชิ้นส่วนแอร์ไปจนถึงขั้นตอนประกอบแอร์ไว้ในที่เดียวกันในรูปแบบของ One stop service อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานพร้อมทั้งแหล่งเก็บน้ำ, แผง Solar Rooftop ขนาด 3.43 เมกะวัตต์ และการนำระบบไอทีมาช่วยบริหาร Supply Chain ทั้งระบบ ช่วยลดต้นทุนการผลิตลง รวมทั้งบริษัทย่อยหลายบริษัทเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะ SCAN (SNC ถือ 100%) คาดเห็นผลขาดทุนน้อยลงจากปีก่อนที่ 80-90 ล้านบาท หลังงาน ODM เริ่มใช้ Aluminium condenser มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน SNC ลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าผ่าน บจ.โอดิน พาวเวอร์ (SNC ถือ 55%) โดยวางแผนเป็น Holding company เพื่อลงทุนในพลังงานทางเลือก โดยเริ่มโครงการแรกเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ด้วยกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ที่ จ.ยะลา ใช้เชื้อเพลิงเป็น ขยะชุมชน คาดสร้างรายได้สม่ำเสมอในอนาคต

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำหรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตามล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button