หุ้นน้องใหม่แกะกล่อง TPIPP พร้อมเทรดวันนี้ ลุ้นยืนเหนือ 8 บ.

น้องใหม่ TPIPP พร้อมลุยเทรด ลุ้นยืนเหนือ 8 บาท ชูจุดแข็งผู้ประกอบธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคที่หลากหลาย อีกทั้งเป็นผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (5 เม.ย.) บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรกในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ด้วยราคา IPO ที่ 7 บาท

โดย นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) เป็นวันแรกในวันที่ 5 เม.ย.นี้ โดยใช้ชื่อย่อว่า TPIPP ในการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัทได้เปิดให้จองซื้อหุ้น IPO เมื่อวันที่ 24 และ 27-29 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยแสดงความต้องการจองซื้อหุ้นสูงเกือบ 7 เท่าของจำนวนที่เปิดให้นักลงทุนแสดงความต้องการจองซื้อ (Book Building) จึงเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจของ TPIPP และโอกาสการเติบโตที่ดีในอนาคต

ทั้งนี้บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 8,400 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 8,400 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านหุ้น แบ่งเป็น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ TPIPL จำนวน 125 ล้านหุ้น และขายให้ประชาชนทั่วไป จำนวน 2,375 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่ม โดยแบ่งแยกธุรกิจโรงไฟฟ้าจากบริษัทแม่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ให้ชัดเจน และปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยลดภาระหนี้สินของกลุ่ม TPIPL

ขณะเดียวกัน TPIPP เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง “ขยะเป็นศูนย์” หรือ Zero Waste เพื่อเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงคำนึงถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“เรามีวิสัยทัศน์ก้าวเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้า จากการนำขยะจากชุมชนและขยะจากหลุมฝังกลบมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่มีค่าความร้อนสูง เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกัน เรามีจุดยืนการทำธุรกิจด้วยแนวคิด Clean and Green Energy, Clean Up Country ที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน” นายประชัย กล่าว

 

ด้าน นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทสามารถทำภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2559 เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีกำไรสุทธิ 1,824.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 270% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 493.36 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4,433.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีรายได้รวม 2,794.83ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานที่เติบโตแข็งแกร่งทั้งในด้านกำไรสุทธิและรายได้รวม เกิดจากบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากการ COD โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 2 โรง ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งโรงละ 20 MW และ 60 MW ให้แก่ กฟผ. ในช่วงปีที่ผ่านมาได้เต็มปี เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งอีก 2 โรง ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งโรงละ 40 MW และ 30 MW ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ TPIPL อยู่แล้วก่อนหน้านี้ ส่งผลให้บริษัทสามารถทำรายได้จากการดำเนินการโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทั้ง 4 โรง ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ขณะที่บริษัทมีธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มุ่งเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ส่วนธุรกิจหลักกลุ่มที่สองคือ ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ภายใต้เครื่องหมายการค้า TPIPL รวม 12 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการขายอินทรียวัตถุที่เหลือใช้จากสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ให้แก่บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ TPIPL เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยชีวภาพ โปรไบโอติกส์เพื่อการเลี้ยงสัตว์และการกำจัดสิ่งปฏิกูลในน้ำอีกด้วย

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง คาดจะเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ทั้งหมด ส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 290 MW รวมเป็น 440 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ซึ่งหลังก่อสร้างแล้วเสร็จจะนำกำลังการผลิตติดตั้งไปรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 MW เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 100 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.

รวมไปถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 MW และโรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ที่ออกแบบให้ผลิตไฟฟ้าสำรองป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 60 MW หรือโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW โรงใดโรงหนึ่ง ในกรณีที่เครื่องจักรชำรุด

 

ขณะที่ นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า ธุรกิจของ TPIPP มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากอยู่ระหว่างขยายโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานในอนาคต ประกอบภาครัฐมีนโยบายให้การส่งเสริมธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นส่วนสำคัญในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศและเป็นช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ รวมถึงยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศระหว่างปี 2557-2579 ที่คาดว่าจะเพิ่มในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ต่อปี

 

 

อย่างไรก็ตาม บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 30 มี.ค.60 มีมติไม่จำหน่าย โอน หุ้นสามัญของ TPIPP ทั้งจำนวน 5,899,999,300 หุ้น เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่หุ้น TPIPP เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ TPIPP และยังเป็นการแสดงเจตนารมย์ของบริษัทในการถือหุ้นระยะยาวใน TPIPP

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อนุมัติเปลี่ยนนโยบายการบัญชี สำหรับการตีราคาที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ จากวิธีการตีราคาใหม่เป็นวิธีราคาทุน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 การเปลี่ยนนโยบายการบัญชีดังกล่าว จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (องค์ประกอบการอื่นของส่วนของผู้ถือหุ้น) ลดลงจำนวน 1.83 หมื่นล้านบาท (ประกอบด้วยสินทรัพย์ลดลงในส่วนของบัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ จำนวน 2.29 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ด้านหนี้สินลดลงในส่วนของบัญชีหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจำนวน 4.58 พันล้านบาท)

โดยภายหลังการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีดังกล่าว บริษัทจะไม่มีภาระในการรับรู้ค่าเสื่อมราคาของส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จของบริษัท จำนวนประมาณ 1.3 พันล้านบาท/ปีอีกต่อไป

 

อนึ่ง TPIPP เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ปัจจุบัน บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่มุ่งเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ของ TPIPL

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า ราคาหุ้น TPIPP มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูงถึง 9 บาท โดยคำนวณจากค่า P/E ที่ระดับ 30 เท่า และกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 0.309 บาท ขณะเดียวกัน TPIPP เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง โดยมีกฟผ. และบริษัทแม่ TPIPL เป็นผู้รับซื้อ รวมทั้งประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ภายใต้เครื่องหมายการค้า TPIPL อีกด้วย จึงมองว่าราคาหุ้นน่าจะปรับตัวขึ้นประมาณ 28.57% จากราคา IPO ที่ 7 บาท

Back to top button