รัฐบาล ตั้งเป้าคุมโควิดรอบใหม่ใน 2 เดือน ลุยกระตุ้นศก.-ดัน “เราชนะ” หารือครม.สัปดาห์หน้า

รัฐบาล ตั้งเป้าคุมโควิดรอบใหม่ใน 2 เดือน ลุยกระตุ้นศก.-ดัน “เราชนะ” หารือครม.สัปดาห์หน้า ลุ้นเยียวยาหมดหรือเฉพาะพื้นที่ระบาด


รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ (15 ม.ค.64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวภายหลังการหารือและรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศต่อนายกรัฐมนตรี โดยตั้งเป้าต้องการเห็นการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้ โดยนำเอาบทเรียนแก้ปัญหาโควิด-19 ในช่วงเดือนเม.ย. 63 ซึ่งใช้เวลาถึง 3 เดือนจึงจะควบคุมสถานการณ์ได้ มาเป็นประสบการณ์และเรียนรู้การแก้ปัญหาในครั้งนี้ให้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อว่า หากผ่านช่วง 2 เดือนนี้ไปได้ เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน

รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลมีเงินกู้เพียงพอที่จะนำมาเยียวยาประชาชน ส่วนจะมีความจำเป็นต้องออกมาตราการคนละครึ่ง เฟส 3 หรือ เฟส 4 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายอีกหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องดูตามสถานการณ์ เพราะการแก้ปัญหายังมีความไม่แน่นอนสูง หากจำเป็นต้องออกมาตรการ รัฐบาลก็มีความพร้อม และเชื่อมั่นว่าไม่น่าจะมีการระบาดในรอบที่ 3 หรือ 4 เกิดขึ้นอีก

สำหรับการเดินหน้าการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่ไทยได้รับวัคซีนแล้ว จะมีการเดินหน้าปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศมาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งมองว่าไทยยังมีศักยภาพและเป็นประเทศที่น่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุน สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องช่วยกันรักษาวินัย และทำตามมาตรฐานสุขอนามัยเพื่อลดการแพร่ระบาดโควิด-19

สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชน 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้เจาะจงหรือวางแผนว่าจะให้เป็นเฉพาะจุดหรือจังหวัด แต่ต้องรอดูรายละเอียดที่จะมีการเสนอในที่ประชุม ครม.วันอังคารหน้า แต่ยืนยันว่า รัฐบาลดูแลประชาชนทุกภาคส่วน โดยการเยียวยาครั้งนี้ถือเป็นโมเดลใหม่ในการช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้ทำรูปแบบเดิม เพราะไม่ได้มีการล็อกดาวน์ประเทศ แต่เป็นการประเมินสถานการณ์การระบาดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหม่ แต่มีเป้าหมายเดิม คือ ลดการระบาดและช่วยเหลือประชาชน

ส่วนการช่วยเหลือธุรกิจภาคการท่องเที่ยวนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการมาตั้งแต่เดือนธ.ค.63 ทั้งสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท หรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน เป็นต้น แต่ความช่วยเหลือคงไม่ใช่ลักษณะของการหว่านแห

Back to top button