นายกฯ สวน “เพื่อไทย” ขุดความล้มเหลว “จำนำข้าว-บ้านเอื้ออาทร” ทำรบ.แบกรับภาระหนี้ต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรี สวนกลับ ส.ส.เพื่อไทย ขุดความล้มเหลวโครงการ “จำนำข้าว-บ้านเอื้ออาทร” ของรัฐบาลชุดเก่า ทำรัฐบาลปัจจุบันแบกภาระหนี้ต่อเนื่อง


นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันที่ 2 (17 ก.พ.64) ว่า ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดขึ้นต่อเนื่องมา 7 ปีแล้ว นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของต่างชาติทำให้ถูกกีดกันทางการค้า ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ เกิดความผิดพลาดในการบริหารงบประมาณจนส่งผลกระทบต่อระบบวินัยการเงินการคลัง สร้างภาระหนี้สาธารณะซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของต่างประเทศ

เป็นรัฐบาลที่กู้เงินมากสุดในประวัติศาสตร์แต่เกิดประสิทธิภาพต่ำ ความสำเร็จในการบริหารนั้นสะท้อนให้เป็นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ ได้แก่ รายได้ส่งออกหดตัว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

“ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการที่เราไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ต่างชาติไม่เชื่อถือและกีดกันทางการค้าผ่านกลไกต่าง…การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจไม่เกิดการหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดในการบริหารงาน” นายไชยา กล่าว

ทั้งนี้ นายไชยา ได้ยกตัวอย่างกรณีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยในปี 63 จะหดตัว -8% และมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค, ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าอาเซียนจะขยายตัว 5% แต่ไทยจะขยายตัวแค่ 2.7%, ธนาคารโลกมองว่าแม้ไทยจะสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี แต่ภาวะเศรษฐกิจในปี 64 จะอยู่ในภาวะถดถอยมากสุดในภูมิภาค และต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิฤตโควิด-19 โดยจีดีพีจะหดตัว -8.3%, นิเคอิเอเชียรีวิวชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะถดถอยยาวนานถึง 10 ปี แม้กระทั่งสภาพัฒน์ล่าสุดคาดการณ์ว่าปี 64 ไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.5-3.5% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.5-4.5%

“ผมเองยังไม่เชื่อตัวเลขที่สภาพัฒน์บอก เพราะเครื่องจักรทางเศรษฐกิจในปี 64 ทุกตัวดับสนิท ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายใน การใช้จ่ายภาครัฐ หรือการลงทุนภาคเอกชน การประเมินของสภาพัฒน์ไม่มีทางเป็นไปได้” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลตั้งแต่ปี 55 มีการขาดดุลงบประมาณแต่มีแนวโน้มลดลง แต่นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นรัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเต็มเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเงินการคลัง

นอกจากรายจ่ายแล้วในด้านการจัดหารายได้ก็ไม่เพิ่มพูน เช่น การปรับลดภาษีที่ดินเหลือ 10% ต่อเนื่องเป็นปีที่สองแล้ว โดยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ที่จริงแล้วเป็นการช่วยเหลือคนรวย ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นเองมีมีรายได้ลดลง

ขณะที่มาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 นั้น เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้มีคนออกมาประท้วง ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนนั้นล่าช้า หากสามารถดำเนินการได้เร็วจะช่วยลดต้นทุนจากการเสียโอกาสได้ และช่วยให้การฟื้นฟูตัวของระบบเศรษฐกิจเร็ว

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงกรณีหนี้สาธารณะว่า ปัญหาหนี้สาธารณะ มีทั้งหนี้ที่เกิดจากโครงการในอดีตที่ล้มเหลว ทำให้รัฐบาลต้องมารับช่วงผ่อนชำระต่อ อาทิ โครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลชดใช้ไปแล้วกว่า 705,018 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2563 เหลือหนี้อยู่ 288,401 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยอีกกว่า 83.08 ล้านบาท รวมถึงต้องตั้งงบประมาณชดใช้อีกปีละ 23,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 12 ปี และหนี้จากโครงการบ้านเอื้ออาทรกว่า 20,000 ล้านบาท โดยการเคหะชดเชยไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญและได้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือประชากรทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ผ่านกลไกธนาคารของรัฐตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ นอกจากนี้ ยังจัดสรรงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองระลอก ตามพระราชบัญญัติเงินกู้เป็นจำนวนกว่า 1 ล้านล้านบาท รวมไปถึง การทยอยแก้ปัญหาให้กับประชาชนด้วยการออกโครงการใหม่ต่างๆ อาทิ โครงการเราชนะที่มีวงเงิน 210,200 ล้านบาท โครงการสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และโครงการการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวชี้แจงในประเด็นเกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมถึงการจัดซื้ออาวุธกล้องเพื่อใช้ในภารกิจของหน่วยรบจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะประสิทธิภาพสูง เพื่อความปลอดภัยสำหรับภารกิจในสถานการณ์ที่อันตรายสูงสุด ส่วนการปฏิรูปกองทัพกำหนดให้มีการพัฒนาสอดคล้องกับการบริหารความมั่นคงรูปแบบใหม่ การรักษาความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค และเพื่อประสิทธิภาพในการพร้อมรบเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงความจำเป็นต้องจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่าเป็นการสร้างความมั่นใจว่าไทยมีศักยภาพที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศ ไทยไม่เคยมีอุปกรณ์สำรวจท้องทะเลลึก ดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลของไทย ดูแลเรื่องโรฮิงญา อีกทั้งมีเหตุการณ์ที่บางประเทศลักลอบเข้ามาในน่านน้ำไทยในทางลับ ทั้งนี้การจัดซื้อเรือดำน้ำต้องรออีก 6 ปี กว่าจะได้เรือ และต้องส่งกำลังพลไปเรียนรู้ ยืนยันป็นการทำเพื่อคนไทยทุกคน ทั้งนี้เป็นการจัดซื้อด้วยงบฯที่ถูกลง คุ้มค่ามากที่สุด และในอาเซียนรวมแล้วมีประเทศต่างๆมีเรือดำน้ำแล้วจำนวน 18 ลำ แม้ว่าในอดีตไทยเคยมีเรือดำน้ำ แต่ปลดประจำการไปแล้วตั้งแต่ปี 2494 ดังนั้นเป็นเวลา 69 ปีแล้วที่กองทัพเรือไทยไม่มีเรือดำน้ำประจำการ

“เมื่อเทียบผลประโยชน์ทางทะเล ที่มีมูลค่า 24 ล้านล้านบาท แต่ราคาที่ได้ลงทุนไปคิดเป็น 0.093% เท่านั้น ถือว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและตอบสนองยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง หลายท่านบอกว่าจะไปซื้อมาทำไม อาวุธก็ไม่ต้องมี ทหารก็ไม่ต้องมี คิดอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าคิดแบบนี้ เราจะอยู่กันอย่างไรในวันข้างหน้า อนาคตเราก็ไม่รู้ ยามศึกเรารบ ยามสงบเราก็ต้องเตรียมพร้อม หลักการสำคัญมีแค่นี้ พร้อมทั้งขวัญกำลังใจคน เครื่องไม้เครื่องมือ วันนี้ความรุนแรงของอาวุธต่างๆก็เกิดขึ้น เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น ถ้าไม่พัฒนาตัวเอง ไม่ปรับปรุงตัวเอง ก็อยู่ไม่ได้ ชีวิตทุกคนมีความเสี่ยงทั้งหมด แล้วท่านจะรู้ว่า ถ้าไปเผชิญสถานการณ์การสู้รบจริงๆ เป็นอย่างไร ท่ามกลางกระสุนปืนใหญ่ รถถัง M79 ผมถึงเห็นใจเขาไง เห็นใจลูกหลานของท่านบ้าง เขาตายไปจะทำอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนเรื่องกิจการเหมืองหินสัมปทานของกองทัพเรือที่มีการต่อสัญญาให้ผู้ประกอบการแม้จะมีการทำผิดสัญญา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สัญญาที่ทำไว้มีระยะเวลา 5 ปี โดยจะต่อสัญญาในลักษณะปีต่อปี พร้อมทั้งระบุเงื่อนไขต่างๆไว้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตหินได้ตามสัญญา จึงมีมูลค่าขาดประโยชน์ 40 ล้านบาท และผู้ประกอบการขอผ่อนชำระ รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตเต็มประสิทธิภาพมาตลอด มีการปรับปรุงเหมืองให้เป็นไปตามระเบียบ เมื่อได้พิจารณาในภาพรวม จะเห็นว่าการทำสัญญาในปีที่สองกับผู้ประกอบการทำให้กองทัพเรือได้ประโยชน์สูงสุด

กรณีที่นายพิจารณ์ เชาวน์มีพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาโจมตีว่า ทางกองทัพใช้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องแต่งกายของทหารแพงเกินจริง เมื่อเทียบกับการซื้อในเว็บออนไลน์ทั่วไป นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การจัดซื้อถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินการของกองทัพ ด้วยวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีราคากลางที่จะเป็นตัววัด อีกทั้งจะต้องดูคุณภาพ ศึกษาประสิทธิภาพของสินค้า รวมถึงประสิทธิภาพการผลิตของผู้ขาย ซึ่งต่างจากการซื้อสินค้าออนไลน์ นอกจากนี้ ร้านค้าต้องเสียภาษีให้กับรัฐด้วย อีกทั้งกำหนดวงเงินค่าปรับ หากทำตามสัญญาไม่ได้ จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตและราคาสูงกว่าสินค้าออนไลน์

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ขออย่ากล่าวอ้างว่าได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ และยืนยันไม่รับเงินที่ไม่สุจริต เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายหลังการชี้แจงว่า ไม่ชอบตนไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ชอบประเทศนั้น ไม่ควร เพราะประชาชนก็คือประชาชนของเรา ที่ต่างฝ่ายต่างรักทั้งคู่ คำว่ารักประชาชนต้องไม่เลือกว่าใครเป็นใคร กฎหมายเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ให้ทุกคนอยู่อย่างเป็นปกติในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหนก็ตาม ต้องมีกฎหมาย นั่นคือทำให้สังคมสงบเรียบร้อย

“อันศึกนอกศึกไกลผมไม่ห่วง แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง หากคนไทยหันมาฆ่ากันเอง เราจะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง”

โดยทันทีที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงครั้งแรกจบ ได้วางเอกสารและลุกขึ้นออกไปนอกห้องประชุมทันที

Back to top button