
“ทรัมป์” เขย่าอียู ขึ้นภาษี 50% ไทยเสี่ยงโดนหางเลข ส่งออกสะดุด
“ทรัมป์” ขึ้นภาษีอียู 50% เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ ด้านยุโรปไม่ถอย โลกเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ ไทยอาจโดนหางเลข ส่งออกสะเทือน หากอียูหันพึ่งตลาดใกล้บ้านแทนสินค้าไทย
แม้บรรยากาศของสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกจะเริ่มคลี่คลายลง หลังจากสหรัฐอเมริกาสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับจีน ท่ามกลางความหวังของประชาคมโลกว่า จะได้เห็นทิศทางที่สงบและสร้างสรรค์มากขึ้นบนเวทีการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวล่าสุดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหม่ให้กับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ เมื่อเขาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจาก สหภาพยุโรป (EU) ในอัตราสูงถึง 50% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป
สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า การเจรจากับอียูมีความล่าช้าและไร้ความคืบหน้า อีกทั้งยังไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างเหมาะสม ส่งผลให้รัฐบาลภายใต้การนำของทรัมป์ ต้องหันมาใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือกดดันเชิงนโยบาย เพื่อเร่งรัดความร่วมมือและสร้างความได้เปรียบในการเจรจา
มาตรการดังกล่าวยังถูกจัดอยู่ในกรอบของ “การชะลอการขึ้นภาษีเป็นเวลา 90 วัน” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เพื่อส่งสัญญาณเตือนต่อประเทศคู่ค้าให้เร่งปรับท่าที โดยก่อนหน้านี้จีนได้แสดงท่าทีประนีประนอมบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดความคาดหวังว่า แนวโน้มของสงครามการค้าจะผ่อนคลายลง
“การประกาศขึ้นภาษีกับอียูในครั้งนี้ อาจกลายเป็นชนวนใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการปะทุของสงครามการค้าระลอกใหม่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเปราะบางจากทั้งปัจจัยเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่อาจคาดการณ์ได้”
ขณะเดียวกัน ท่าทีล่าสุดจากฝั่งสหภาพยุโรป (EU) ไม่ยอมถอย โดยยังคงย้ำชัดว่า “ข้อตกลงทางการค้าจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน มิใช่เกิดจากแรงกดดันหรือการข่มขู่”
ด้านนายมารอช เชฟโชวิช กรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป แสดงจุดยืนผ่านแพลตฟอร์ม X ภายหลังการหารือทางโทรศัพท์กับนายจามิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) และนายฮาวเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ โดยระบุว่า
“คณะกรรมาธิการยุโรปยังคงพร้อมทำงานด้วยความจริงใจ การค้าระหว่าง “อียู-สหรัฐ” ต้องยึดหลักความเคารพ ไม่ใช่การข่มขู่ เราพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของเรา”
อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวล่าสุดระหว่างอียูและสหรัฐอเมริกา อาจส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทยด้วย แม้ไทยจะยังคงเกินดุลการค้าในระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากแรงกระเพื่อมในเวทีการค้าโลกได้อย่างสิ้นเชิง
หากย้อนดูข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 31 มี.ค.68 ระบุว่า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2567 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 43,532.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.26% จากช่วงเดียวของปีก่อนหน้า
โดยไทยส่งออกไปยังอียู มูลค่ารวม 24,205.09 ล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้น 10.23%) และมีการนำเข้ารวม 19,327.56 ล้านดอลลาร์ (ลดลง 2.16%) ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 4,877.53 ล้านดอลลาร์
สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่เป็นสินค้ามูลค่าสูงและใช้มาตรฐานคุณภาพ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, อาหารทะเลแปรรูป เช่น กุ้งกระป๋อง ปลาทูน่า, ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง, ชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ผลไม้แปรรูป เช่น ทุเรียน มะม่วงอบแห้ง, เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และสิ่งทอ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจอียูชะลอตัวจากแรงกดดันด้านภาษี ย่อมกระทบต่อกำลังซื้อ ความเชื่อมั่น และคำสั่งซื้อสินค้าไทยบางกลุ่มโดยตรง ขณะเดียวกัน ไทยก็อาจเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น หากอียูปรับแผนการค้าไปพึ่งตลาดใกล้บ้านมากขึ้น เช่น กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา หรือภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูด้วยกันเอง
นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจและธุรกิจส่งออกเท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบ… หากแต่ตลาดหุ้นไทยเองก็มีแนวโน้มได้รับผลพวงตามมาเช่นกัน
สอดคล้องไปตามทิศทางดาวโจนส์ ปิดเมื่อวันศุกร์ (23 พ.ค.68) ที่ระดับ 41,603.07 จุด ลดลง 256.02 จุด หรือ -0.61% รวมถึงดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,802.82 จุด ลดลง 39.19 จุด หรือ -0.67% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,737.21 จุด ลดลง 188.53 จุด หรือ -1.00%
สงครามการค้าระลอกใหม่อาจไม่ใช่เสียงระเบิด… แต่คือแรงสะเทือนที่ไม่มีประเทศไหนเดินหลบได้
ขณะที่สหรัฐฯ ยังเดินหน้าใช้ “ภาษี” เป็นอาวุธต่อรอง และอียูไม่ยอมก้มหัวให้การข่มขู่
ประเทศเล็กในวงโคจรการค้าระดับโลกอย่างไทย…
คงต้องอยู่ให้รอด บนสนามที่เปลี่ยนกติกาทุกครั้งที่ ทรัมป์ออกคำสั่ง!