BTS งัดข้อ BEM อีกรอบ! ปมต่อสีเหลืองผ่านศาล “รฟม.” กุมขมับปัญหารอบด้าน สีม่วงใต้ก็ไม่เว้น

‘BTS’ งัดข้อ BEM อีกรอบ กร้าว!ไม่ชดเชย BEM ทุกกรณี หากได้ทำส่วนต่อขยายสายสีเหลืองผ่านหน้าศาลอาญา ฟากบอร์ดสั่ง “รฟม.” ศึกษาเพิ่มเติมหากทำส่วนต่อขยายจะกระทบสายสีน้ำเงินอย่างไร ก่อนชงให้ตัดสินใจ ขณะที่สายสีม่วงใต้ยังเคลียร์ไม่จบเรื่องพื้นที่แนวก่อสร้าง


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง อีก 2.6 กิโลเมตร (กม.) จากเดิมสิ้นสุดที่สถานีรถไฟฟ้าลาดพร้าวไปสิ้นสุดที่แยกรัชโยธินว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทที่กิจการร่วมค้า BSR Joint Venture (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ผู้รับงานสายสีเหลืองจัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ได้ส่งหนังสือมายัง รฟม.เพื่อยืนยันว่าไม่สามารถชดเชยให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รฟม.ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) รฟม. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธาน รับทราบ ซึ่งบอร์ดได้มอบหมายให้รฟม.ไปศึกษาเพิ่มเติมว่าหากต้องทำส่วนต่อขยายสายสีเหลืองจริง จะส่งผลกระทบต่อ BEM หรือไม่ อย่างไร เพื่อนำมาประมาณการการชดเชย และนำมาเสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้งว่าควรดำเนินการอย่างไร

“ถามว่ารฟม.จะเป็นคนจ่ายค่าชดเชยแก่ BEM แทน EBM ใช่หรือไม่ คงยังตอบไม่ได้ เพราะบอร์ดอยากให้เราไปศึกษาข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ เพื่อประมาณการแล้วมาเสนอให้พิจารณาอีกครั้ง ก็ต้องรอบอร์ดก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างไร จะให้ทำส่วนต่อขยายหรือไม่ เราจะยอมชดเชยเอง หรือจะย้อนกลับไปเจรจากับ EBM อีกครั้งดี โดยเรื่องนี้ยังมีเวลาตัดสินใจได้จนถึงกรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นกำหนดการเปิดเดินรถสายสีเหลืองเส้นทางหลัก แต่ถ้าพ้นกำหนดนี้ไปแล้วก็ถือว่าต้องยุติเรื่องส่วนต่อขยาย” นายภคพงศ์ กล่าว

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้รฟม.เคยทำการศึกษาไว้ว่าหากมีการต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จากเดิมสิ้นสุดที่สถานีลาดพร้าว (สายสีน้ำเงินใต้ดิน) ซึ่งมี BEM เป็นผู้รับสัมปทาน ขยายตามแนวถนนรัชดาผ่านหน้าศาลอาญา ไปสิ้นสุดที่แยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งมี BTS เป็นผู้รับสัมปทาน ทำให้ผู้โดยสารถูกแชร์ออกไป ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในปีแรกที่เปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีเหลือง จะทำให้ผู้โดยสารของ BEM ลดลง 9,000 คนต่อวัน หรือประมาณ 1% และผู้โดยสารจะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงปีที่ 30 ของสัญญาสัมปทาน ที่พบว่าผู้โดยสารจะลดลงประมาณ 30,000 คนต่อวัน ซึ่งถือเป็นการปรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่นอกเหนือจากแผนแม่บท และกระทบประมาณการผู้โดยสารที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงินระหว่างรฟม.กับ BEM

ทั้งนี้ ทาง BEM จึงได้เสนอเงื่อนไขว่าจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญาสายสีเหลืองส่วนต่อขยายว่า BTS และ BEM จะต้องมีการเจรจากันภายหลังการเปิดให้บริการสายสีเหลืองส่วนต่อขยายแล้ว และ BEM สามารถพิสูจน์ได้จริงว่าเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารสายสีน้ำเงิน โดย EBM จะต้องทำการเยียวยาให้ BEM อย่างเหมาะสม และทาง EBM ได้ยืนกรานไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้รฟม.กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (บริษัทในเครือ BTS) มีข้อพิพาทกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 122,067 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้มีผู้ยื่นข้อเสนอ 2 ราย คือ BTSC กับ BEM ซึ่งมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 31.32%

ทั้งนี้ BTSC ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และรฟม.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีการปรับเงื่อนไขวิธีประเมินข้อเสนอใหม่ จากเดิมที่เปิดข้อเสนอทีละซองแล้วพิจารณาคะแนนทีละซอง มาเป็นการเปิดข้อเสนอซองที่ 2 (เทคนิคก่อสร้าง) และซองที่ 3 (ข้อเสนอการเงิน) พร้อมกัน และนำคะแนนข้อเสนอเทคนิคก่อสร้าง 30% มารวมกับคะแนนข้อเสนอการเงิน 70% ซึ่งเป็นการปรับเงื่อนไขหลังเปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) แล้ว โดยล่าสุดรฟม.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอจำหน่ายคดีออกจากสารบบแล้ว หลังจากศาลฯ อนุมัติให้รฟม.ถอนอุทธรณ์ไปก่อนหน้านี้

ขณะวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก BTSC ได้เดินทางไปยื่นฟ้องผู้บริหารรฟม. โดยเป็นการยื่นฟ้องนายภคพงศ์และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ซึ่งศาลได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 และนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2564

สายสีม่วงใต้ก็ยังมีปัญหา

นายภคพงศ์ กล่าวต่อถึงโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงิน 101,112 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 อนุมัติให้รฟม.ดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาว่า ล่าสุดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้แจ้งให้รฟม.สรุปพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่จะถูกเวนคืน รวมทั้งมูลค่าการจ่ายชดเชยที่ชัดเจน เพื่อให้สำนักงานทรัพย์สินฯ สามารถพิจารณารายละเอียดได้ ทางรฟม.จึงเร่งเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวสายทางโครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นจะจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และคาดว่าจะเปิดจำหน่ายเอกสารฯ ได้ในเดือนมิถุนายน 2564 เริ่มก่อสร้างในเดือนธันวาคม 2564 เปิดให้บริการเดือนมีนาคม 2570

สำหรับกรอบวงเงินรวม 101,112 ล้านบาท จะแบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,913 ล้านบาท / ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท / ค่าก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท / ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท และยอดเงินรายการสำรอง (Provisional Sum) ของงานโยธา 3,582 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีระยะทาง 23.6 กม. จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็น โครงสร้างใต้ดิน 12.6 กม. จำนวน 10 สถานี และโครงสร้างยกระดับ 11 กม. จำนวน 7 สถานี มีอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง และอาคารจอดรถไฟฟ้าแนวเส้นทางของโครงการเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ บางใหญ่-เตาปูน และสายสีน้ำเงิน วิ่งไปตามถนนสาย ง 8 เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามคลองบางซื่อ

จากนั้นค่อย ๆ ลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถ.ทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถ.ราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร สวนรมณีนาถ เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ จากนั้นเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง แยกบางปะแก้ว แยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดบริเวณครุใน

Back to top button