โจทย์หินรอท้าทาย! “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” คนใหม่ ต้องแม่นเกมเงิน-สื่อสารอย่างมีศิลป์

ถึงเวลาเปลี่ยนมือ “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” คนใหม่ หลัง “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ใกล้ครบวาระ ตำแหน่งนี้ไม่ใช่แค่ผู้กำหนดดอกเบี้ย แต่คือผู้รักษาเสถียรภาพ และเป็นศูนย์กลางความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ


13 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2568 ถือเป็นกรอบเวลาสำคัญที่ถูกกำหนดไว้สำหรับการเปิดรับสมัครผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ เพื่อสืบทอดตำแหน่งต่อจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายนนี้

โดยกระบวนการสรรหาครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งแวดวงเศรษฐกิจ การเงิน และการเมือง เนื่องจาก ผู้ว่าฯ ธปท. ถือเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่กำลังเกิดภาวะสงครามการค้าทั่วโลก

สำหรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของแบงก์ชาติ มีวาระ 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ แม้จะอยู่ใต้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ในโครงสร้างราชการ แต่ในทางเศรษฐกิจ นี่คือตำแหน่งที่กำหนดทิศทางและความเชื่อมั่นของประเทศ

คุณสมบัติของผู้สมัคร ยังคงยึดเกณฑ์เดิม เปิดกว้างให้ผู้บริหารจากภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน โดยฝั่งเอกชน ต้องมาจากองค์กรที่มีสินทรัพย์ ไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท และมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองจากผู้บริหารสูงสุด

“การพิจารณายังใช้เกณฑ์เดิมเหมือนรอบที่ผ่านมา เปิดกว้างทุกภาคส่วน” นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อผ่านการสรรหาแล้ว ชื่อผู้ว่าฯ จะถูกเสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีมติรับรอง จากนั้นจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485

กระบวนการว่าสำคัญแล้ว “ภารกิจหลังเข้ารับตำแหน่ง” เต็มไปด้วยแรงกดดันรอบด้าน

อดีตผู้ว่าการ ธปท. ผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนไว้ว่า หน้าที่ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไม่ใช่แค่การบริหารนโยบายการเงินในธนาคารกลางเท่านั้น แต่ต้องสามารถประสานกับรัฐบาล เพื่อให้ดุลยภาพของนโยบายการคลังและการเงินดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

…ถ้าเราไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมท่านได้ หน้าที่ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะด้อยลงไป ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่เราจะทำให้ ก็จะเสียหายไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นในการที่จะติดต่อกับรัฐบาล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความเชื่อถือให้รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเชื่อ ถือว่าเราไม่ได้เห็นประโยชน์ของส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน”

ในปี 2568 นี้ โจทย์ที่รอผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ไม่ได้มีเพียงการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเท่านั้น แต่คือการประคองทั้ง “เสถียรภาพ” และ “ศรัทธา” ของสาธารณชนต่อนโยบายและบทบาทของธนาคารกลาง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเศรษฐกิจในระยะยาว

ธปท. เพิ่งได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว 2 ครั้งในปี 2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี โดย ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุในงานพบสื่อมวลชนครั้งแรกของปีนี้ว่า การลดดอกเบี้ยเพียงพอระดับหนึ่งแล้ว แต่โจทย์ต่อไปคือ ผู้ว่าฯ คนใหม่จะคงดอกเบี้ยไว้หรือไม่? ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อ และค่าเงินบาทที่ยังผันผวน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนที่ระดับ 32.56 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนกลับมาอ่อนค่าปิดตลาดวันศุกร์ที่ 9 พ.ค. อยู่ที่ 33.01 บาทต่อดอลลาร์ หลังผลประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความเปราะบางของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่มีความผันผวนสูง และภาวะการลงทุนที่ยังรอความชัดเจนจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ตลาดยังคงอยู่ในภาวะไม่แน่นอน

ในสนามที่ความเชื่อมั่นสำคัญยิ่งกว่าอัตราดอกเบี้ย

ผู้ว่าฯ คนใหม่ ต้องเป็นทั้งนักคำนวณและนักสื่อสาร

เพราะ “เงิน” เคลื่อนก่อนคำแถลงจะจบ

ขณะเดียวกัน ยังมีโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล อย่างนโยบายประชานิยมหลายรูปแบบ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต เงินกู้เฉพาะกิจ หรือมาตรการช่วยเหลือครัวเรือน ล้วนเป็นสิ่งที่อาจเข้ามากระทบขอบเขตความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องกล้ายืนระยะโดยไม่ถูกมองว่า “ขวางรัฐบาล” และต้องสื่อสารอย่างมีศิลปะเพื่อรักษาสมดุลระหว่างประชาชนกับวินัยการเงิน

และยังมีอีกหนึ่งจุดที่ไม่มีในตำราแต่เป็นเรื่องที่ “ผู้ว่าการ ธปท.” ทุกคนรู้กันดี นั่นคือ “ทองคำหลวงตาห้ามแตะ”

โดยในทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังมีทองคำที่ประชาชนถวายผ่านหลวงตามหาบัว ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ทางใจของระบบการเงินไทย ผู้ว่าฯ คนใหม่ จึงต้องระวังทุกก้าว เพื่อไม่ให้ศรัทธาของประชาชนสะเทือน แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะยังไม่ทันขยับก็ตาม

ตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ จึงไม่ใช่แค่การคุมดอกเบี้ย หรือดูแลค่าเงิน แต่คือการยืนอย่างมั่นคงในสนามที่ทุกฝ่ายจับตา รัฐบาล ตลาดทุน นักธุรกิจ และประชาชน

ในวันที่เศรษฐกิจยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้ว่าแบงก์ชาติ คือ คนที่ต้องจับเข็มทิศการเงินของประเทศด้วยมือที่มั่นคง และหัวใจที่ไม่หวั่นไหว

Back to top button