UBE จับมือ “สวทช.” ลุยอุบลโมเดลพลัส ยกระดับเกษตรอินทรีย์

UBE ลงนาม “สวทช.” เดินหน้าโครงการ อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์ภายใต้พื้นที่อีสานตอนล่าง สู่กลไลเศรษฐกิจ BCG Model


นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE และ นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมกันเดินหน้า “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์ภายใต้พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดยโสธร, จังหวัดศรีสะเกษ, และจังหวัดอำนาจเจริญ มุ่งสู่กลไลเศรษฐกิจ BCG Model งานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ UBE จ.อุบลราชธานี

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี, สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร, สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ, สำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ, และเกษตรกรต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับความร่วมมือดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิต เป็นการร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชน และยกระดับการผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อมุ่งสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากเดิมที่ UBE ได้มีความร่วมมือกับ สวทช. ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์นำร่องในจังหวัดยโสธรตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ครอบคลุม 4 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดยโสธร, จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดศรีสะเกษ

ขณะที่บริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ, ภาคเอกชน, และเกษตรกร โดยจากความสำเร็จของการดำเนินโครงการอุบลโมเดลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 มิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกด้านเกิดความสมดุลและเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันจนประสบความสำเร็จสามารถวางรากฐานที่แข็งแกร่งและสร้างเกษตรกรต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานีได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเตรียมความพร้อมยกระดับโครงการอุบลโมเดลสู่ภาคอีสานตอนล่าง 2 พลัส ทั้ง 4 จังหวัดตามเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นแป้งออร์แกนิคที่มีมูลค่าสูง เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์หลากหลายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาด

โดยทั้งสองฝ่ายจะมีบทบาทหน้าที่ในการร่วมมือกันจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินกิจกรรมแบบบูรณาการต่างๆ อันประกอบด้วย การศึกษา การจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ให้เกษตรกร และการดำเนินกิจกรรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งโมเดลการเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการวัตถุดิบ และทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือต่อไป

ด้าน นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ได้วิจัยและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลัง ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การผลิตมันสำปะหลังให้ได้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตท่อนพันธุ์สะอาด การใช้สารชีวภัณฑ์ ชุดตรวจโรค การผลิตฟลาวมันสำปะหลัง เป็นต้น และยังได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกษตรกร

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ โดยใช้กลไก “ตลาดนำการผลิต” เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและตลาดรับซื้อ ดังโครงการ “อุบลโมเดล” ที่ได้ร่วมกับ UBE ดำเนินงานกับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ต.กู่จ่าน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ปรับเปลี่ยนการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพดี มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงตามที่บริษัทรับซื้อ

อย่างไรก็ตาม การบูรณาการความร่วมมือจากภาคีพันธมิตรภาครัฐและเอกชนใน “อุบลโมเดล” ทำให้เกษตรกรเปิดรับและปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิตมันสำปะหลัง โดยได้รับทั้งความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลผลิตที่ได้มีตลาดรับซื้อและจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น

ขณะที่ UBE ได้วัตถุดิบคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร จากการทำงานดังกล่าว สวทช. จึงได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับ UBE ภายใต้ “โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์ พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดยโสธร, จังหวัดศรีสะเกษ, และจังหวัดอำนาจเจริญ” หรือ “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม” เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และร่วมดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ชุมชนและพัฒนาเกษตรกร

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนผลักดันการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่โดยชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์คุณภาพเพิ่มขึ้น เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ระบบเกษตรปลอดภัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG” วิราภรณ์ กล่าว

Back to top button