TLI บทบาทต่อธุรกิจประกันชีวิต

TLI มี “พันธกิจ” คือการมุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำในระดับสากล เป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิตและสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ทุกชีวิต


“ประกันชีวิต” มีประโยชน์ทั้งในเรื่องให้ความคุ้มครอง การออมทรัพย์ ลดหย่อนภาษี และยังให้ประโยชน์ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ บทบาทของธุรกิจประกันชีวิต ประกอบด้วย ด้านการ “ออมทรัพย์”, “ธุรกิจ”, “การลงทุน” และ “สังคม-ประเทศชาติ”

ประกันชีวิตแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดมีเงินปันผล และ ชนิดไม่มีเงินปันผล ขณะเดียวกัน ประกันชีวิตมี 3 ประเภท คือ ประเภทสามัญ ประเภทอุตสาหกรรม และประเภทกลุ่ม

นอกจากนี้ ประกันชีวิตยังแบ่งออกเป็น 4 แบบมาตรฐาน คือ แบบชั่วระยะเวลา แบบสะสมทรัพย์ แบบตลอดชีพ และแบบเงินได้ประจำหรือแบบบำนาญ และยังมีแบบพิเศษอีก คือ “ยูนิเวอร์แซล ไลฟ์ อินชัวร์รันซ์” และ “ยูนิต ลิงค์ ไลฟ์ อิน ชัวร์รันซ์”

ณ สิ้นปี 2564 ในประเทศไทยมีบริษัทประกันชีวิต 21 แห่ง โดยสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับจาก “ธุรกิจประกันชีวิต” มีสัดส่วนกว่า 70% ของเบี้ยประกันภัยรับทั้งหมด (รวมประกันชีวิตและประกันวินาศภัย)

ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประกันชีวิต มีเบี้ยประกันชีวิตเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่าตัว หรือจาก 296,600 ล้านบาท ในปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 614,100 ล้านบาท ในปี 2564 หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 6.9%

ทั้งนี้ ปัจจัยที่อุตสาหกรรมประกันชีวิตไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากคือ อัตราการเข้าถึงประกันชีวิตในไทยที่ยังต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อัตราส่วนการพึ่งพิงวัยสูงอายุต่ำ สัดส่วนการออมเทียบกับ GDP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราการเข้าถึงประกันชีวิตในไทยยังต่ำ ดังนั้น โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันชีวิตในไทยยังมีอยู่อีกมาก

ข้อมูลจากบริษัท สวิสรับประกันภัยต่อ จำกัด (Swiss Re) บริษัทรับประกันภัยต่อที่มีขนาดใหญ่ของโลก จากสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า อัตราการเข้าถึงประกันชีวิต (Penetration rate: เบี้ยประกันชีวิตต่อ GDP) ของไทยปี 2563 อยู่ที่ 3.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกเล็กน้อยที่ 3.3% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศใน เอเชีย แปซิฟืค ที่ 3.6%

หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย แปซิฟิค พบว่า Penetration rate ของฮ่องกง สูงเป็นลำดับ 1 ของโลกที่ 19.2% และลำดับ 2 ของโลกคือไต้หวัน 14.0% ด้านสิงคโปร์มี Penetration rate ที่ 7.6% ญี่ปุ่นที่ 5.8%

หากเทียบกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเซีย แปซิฟิค พบว่า Penetration rate ของไทยอยู่ต่ำกว่า มาเก๊า ที่ 5.3%, มาเลเซียที่ 4.0% นอกจากนี้ อัตราส่วนการพึ่งพิงวัยสูงอายุต่ำ อัตราส่วนการพึ่งพิงวัยสูงอายุคำนวณจากจำนวนประชากรสูงอายุ มากกว่า 65 ปี ต่อวัยทำงาน(15-64 ปี)

โดยข้อมูลจากสหประชาชาติพบว่าอัตราส่วน การพึ่งพิงวัยสูงอายุของไทยยังต่ำ 18.4 เท่า เทียบกับยุโรป 29.5 เท่า , สหรัฐฯ 25.6 เท่า ญี่ปุ่น 48.0 เท่า ข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนโอกาสเติบโตธุรกิจประกันในประเทศไทยอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ประกอบกับอัตราการเคลมประกันของวัยทำงานจะต่ำกว่าวัยสูงอายุ สัดส่วนการออมของไทยสูงขึ้น และความตระหนักถึงการมีประกันภัยของคนรุ่นใหม่ อัตราส่วนเงินออมรวมต่อ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี 2552 เป็น 32% ในปี 2562

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ที่เริ่มเห็นความสำคัญ ของการมีประกันชีวิตเพื่อการบริหารความมั่งคั่ง ลดหย่อนภาษี ควบคู่กับความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ รวมถึงการระบาดของโตวิด-19 เป็นอีกแรงหนุนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการมีประกันชีวิตและสุขภาพมากขึ้นในอนาคต

นายไชย ไชยวรรณ กรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI

สำหรับ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ได้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยมาแล้วกว่า 80 ปี และมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนไทยรายใหญ่สุด คือ กลุ่มตระกูล “ไชยวรรณ”

TLI ยังได้รับการสนับสนุนจาก Meiji Yasuda Life Insurance หนึ่งในบริษัทประกันชีวิตเก่าแก่ของประเทศญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic shareholder) ในปี 2556 กลุ่มเมจิยาสุดะฯ ได้เข้ามาสนับสนุนความรู้ และช่วยพัฒนาเครื่องมือการขายทางดิจิทัล และยังรวมถึงยัง ช่วยให้ TLI เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ทำให้ TLI มีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ครบวงจร และหลากหลายทั้งด้านการคุ้มครองชีวิต การออม การลงทุน และการวางแผนมรดก สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกวัย

TLI เริ่มประกาศแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงกลางปี 2564 และมาเข้าจดทะเบียนในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565ด้วยมูลค่าการระดมทุนกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคปสูงถึง 1.83 แสนล้านบาท สำหรับเงินที่ได้รับจากการระดมทุน ไทยประกันชีวิตจะนำไปใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยเน้นลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านนวัตกรรมที่จะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการและดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร

การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ และการสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ ในอนาคต สำหรับ TLI ถือเป็น 1 ใน 2 บริษัทประกันชีวิตที่ประสบความสำเร็จด้านการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต ซึ่งยังคงเป็นช่องทางที่สำคัญของธุรกิจประกันชีวิต

โดย TLI มีเบี้ยประกันรับปีแรกแบบคำนวณรายปี APE ราว 72% ในปี 2564 มาจากช่องทางการขายผ่าน “ตัวแทน” ด้วยจำนวนตัวแทนปัจจุบันกว่า 63,800 ราย ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 25% ของจำนวนตัวแทนประกันทั้งหมดในประเทศ และมี APE คิดเป็น 17% ของ APE จากช่องทางตัวแทนในอุตสาหกรรมประกันชีวิต TLI ยังมีช่องทางการ ขายผ่านธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐ เพื่อเสริมความหลากหลายของช่องทางการขายให้ครอบคลุมทุกรูปแบบ

ในด้านผลประกอบการของ TLI พบว่า ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 6,777 ล้านบาท ปี 2563 กำไรสุทธิ 7,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.50% ปี 2564 กำไรสุทธิ 8,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.11% ปี 2565 ช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน) มีกำไรสุทธิ 8,0197 ล้านบาท ค่อนข้างใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มกราคม – กันยายน 2564) นักวิเคราะห์คาดการณ์กำไรปี 2565 ของ TLI จะอยู่ที่ 10,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24%

และล่าสุด FTSE ได้ประกาศรายชื่อหุ้นชุดใหม่ สำหรับ FTSE All World Index เมื่อวันที่ 18 พ.ย.65  และมีผลการปรับน้ำหนัก 16 ธ.ค.65 โดยได้มีการนำหุ้น TLI เข้าคำนวณในกลุ่ม Middle Cap ส่งผลให้มีกองทุนต่างประเทศประเภท Passive Fund เข้ามาเพิ่มน้ำหนักลงทุนกว่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,350 ล้านบาท

สำหรับ FTSE เป็นบริษัทอิสระที่จัดทำดัชนีในระดับสากล (Independent Global Index Provider) มีสถานะเป็น Joint Venture ที่จัดตั้งขึ้นโดย The Financial Times และ London Stock Exchange โดยดัชนีที่ FTSE จัดทำขึ้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อจุดประสงค์ในการวิเคราะห์การลงทุน การวัดผลประกอบการ การจัดการสินทรัพย์ การป้องกันความเสี่ยง หรือแม้แต่ใช้ในการสร้างกองทุนอ้างอิงดัชนี

TLI มี “พันธกิจ” คือการมุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำในระดับสากล เป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิตและสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ทุกชีวิต สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจในแบบเฉพาะบุคคล พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงประกันชีวิตได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ภายใต้การดำเนินงานที่ยึดหลัก ESG เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งมอบคุณค่าแห่งความยั่งยืน ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน”

Back to top button