TTB เปิดบริการ “Yuan Pro Rata Forward” ลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน “สกุลเงิน”

TTB เปิดให้บริการธนาคารแห่งแรกและธนาคารเดียวในไทย “Yuan Pro Rata Forward” ช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวน สะดวกและง่ายสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม


นางสาวบุษรัตน์ เบญจรงคกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB หรือ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการค้ากับประเทศในภูมิภาคสัดส่วนสูงถึง 50% โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 18.4% โดยการค้าระหว่างไทยและจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การนำเข้าและส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนในปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ 12.2% โดยมีมูลค่ารวม 105,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี สัดส่วนการค้าด้วยสกุลหยวนยังคงมีเพียงแค่ 1.9% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นหลักในการค้าขายถึง 79.6% โดยในปีที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ ถือว่าเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนสูงถึง 15.5% สูงกว่าสกุลท้องถิ่นทั่วไป ทำให้ผู้ประกอบกอบการต้องเผชิญความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมาก

ทั้งนี้ จึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการดำเนินธุรกิจ อาทิ จีนหยวน, เกาหลีวอน, อินโดนีเซียรูเปีย, อินเดียรูปี, มาเลเซียริงกิต เนื่องจากสกุลเงินท้องถิ่นมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับเงินบาท และช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งในอนาคตการใช้สกุลหยวนยังมีแนวโน้มที่จะเป็นเงินสกุลหลักอีกสกุลหนึ่ง เพราะนโยบายของทางการจีนกำลังผลักดันให้เงินหยวนเป็นที่ต้องการในด้านการค้าระหว่างประเทศของโลก

ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการผ่อนคลายเกณฑ์ธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ได้อย่างเสรีมากขึ้น และสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX Ecosystem)

ทั้งนี้ เปิดให้บริการการจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วยสกุลหยวน “Yuan Pro Rata Forward” โดยเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่ให้บริการ ซึ่งนอกจากจะช่วยปิดความเสี่ยงได้แล้วลูกค้ายังสามารถทราบถึงต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนในอนาคตได้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา ซึ่งจะช่วยในการจัดการบริหารรายรับ ค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น และมีความยืดหยุ่นให้ลูกค้าสามารถส่งมอบ (ใช้สัญญา) ได้ในวันใดก็ได้ก่อนสัญญาครบกำหนด

โดยผู้ส่งออกและผู้นำเข้าที่มีรายรับและค่าใช้จ่ายในอนาคตเป็นสกุลหยวน สามารถล็อกไว้ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำสัญญาไว้ โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา ซึ่งธนาคารตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน (FX) และการจัดการความเสี่ยงด้วยสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) โดยจะมีสกุลเงินที่ขยายบริการเพิ่มขึ้นอีก 4 สกุล ในปีนี้ ได้แก่ เกาหลีวอน (KRW) อินโดนีเซียรูเปียะ (IDR) เวียดนามดอง (VND) และ ฟิลิปปินส์เปโซ (PHP)

“การกระจายมาใช้ค่าเงินท้องถิ่น จะช่วยให้ผู้ประกอบการบริหารต้นทุนธุรกิจได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจลดลง และมีเวลาดูแลธุรกิจได้ดีขึ้น โดยสามารถดำเนินการได้ง่ายตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทางดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่าง ttb touch สำหรับลูกค้ารายย่อย และ ttb business one สำหรับลูกค้านิติบุคคล ซึ่งครอบคลุม 18 สกุลเงินรวมทั้งสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปสาขา” นางสาวบุษรัตน์ กล่าว

Back to top button