SUN จับมือ “ม.เกษตร” พัฒนาศึกษาพันธุ์พืช-เทคโนโลยีนวัตกรรม

SUN จับมือ ม.เกษตร พัฒนาศึกษาพันธุ์พืช เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพต่อไปในอนาคต


บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการดำเนินการพัฒนาการศึกษาพันธุ์พืช เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมไร่ตะวันหวาน (Sun Valley) บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUN เปิดเผยว่าบริษัทมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัยเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรอย่างสม่ำเสมอ สินค้าหลักคือสินค้าข้าวโพดหวาน โดยมีตลาดส่งออกลูกค้าต่างประเทศมากกว่า 40 ราย นอกจากนี้ ตลาดในประเทศ สินค้าถั่วลายเสือเป็นสินค้าซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการสูงมาก

ทั้งนี้บริษัทมีความท้าทายด้านปัญหาการ supply ทางด้านวัตถุดิบ บริษัทจึงได้เล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกับคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยและมีผลงานทางด้านวิชาการและงานวิจัยพันธุ์พืช ที่บริษัทสามารถนำมาสานต่อและเชื่อมโยงสู่สนามจริง สามารถช่วยเติมเต็มด้านคุณภาพผลผลิตเทคโนโลยีในการปลูกที่ดี เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ให้สอดคล้องกำลังการผลิตในโรงงานมากขึ้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ธานี  ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตร กล่าวว่า แนวทางความร่วมมือระหว่าง SUN และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนโมเดล เศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Low carbon

โดย คณะเกษตร ม.เกษตร มีความเชี่ยวชาญ ในการพัฒนาสายพันธุ์พืช ให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น มีความต้านทานต่อโรคและแมลง และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และมีเทคโนโลยีการผลิตที่ปลอดภัย โดยการใช้ชีวภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีคุณค่าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการร่วมมือ SUN โดยหวังว่าภายใต้ความร่วมมือนี้ จะสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจ และมองว่าสุดท้ายถ้าหากต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ ผู้ผลิตต้นน้ำ และเกษตรกรจะได้ผลประโยชน์ และเกิดความขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจของไทยต่อไป

อย่างไรก็ดีความร่วมมือระหว่าง SUN และ มหาวิทยาลัยเกษตร จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปสินค้า อาทิ ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสงลายเสือ และพืชอื่นๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดและก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางด้านการเกษตรในทุกๆ มิติ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรเครือข่ายของบริษัท ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรผ่านการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน จากทั้งสองฝ่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในวงวิชาการด้านการพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการผลิตพืชที่ช่วยยกระดับผลผลิตและคุณภาพต่อไป

Back to top button