
THAI จับมือ “จุฬา” ยกระดับศึกษา ตอบโจทย์อุตสากรรมการบินยุคใหม่
“จุฬาฯ-การบินไทย” เปิดตัวความร่วมมือทางวิชาการ ยกระดับองค์ความรู้สู่ฟ้า “Chula–TG: Be the Star in the Sky of Knowledge” ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการบินยุคใหม่
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้เปิดตัวความร่วมมือทางวิชาการครั้งสำคัญ ภายใต้แนวคิด “จุฬาฯ – การบินไทย: ความรู้คู่ฟ้า Chula–TG: Be the Star in the Sky of Knowledge” ณ เรือนจุฬานฤมิต เมื่อวันที่ 1 พ.ค.68
โดยมีศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยฯ ร่วมปาฐกถาพิเศษ แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบทบาทของการเรียนรู้ในยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมด้วย นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย และ รองศาสตราจารย์ ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ รองอธิการบดี จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้
ความร่วมมือ “Chula – TG” เป็นการบูรณาการองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาชั้นนำกับภาคธุรกิจการบิน เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างรอบด้าน โดยมีโครงการหลากหลายที่ครอบคลุม เช่น การจัดทำ Edutainment Content ที่เผยแพร่บนเที่ยวบินของการบินไทย เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดียจากคณาจารย์จุฬาฯ พร้อมกรณีศึกษาจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ซึ่งถือเป็นบทเรียนเชิงกลยุทธ์ในการบริหารจัดการองค์กร
นอกจากนี้ ยังมีรายการ “Series of the President” ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ผู้บริหารการบินไทย ถ่ายทอดมุมมองผู้นำในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย เหมาะสำหรับบุคลากร นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป รวมถึงการร่วมออกแบบหลักสูตรด้านบริการภายใต้ชื่อ “School of Hospitality” ที่ผสมผสานองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาการบริการ การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานบุคลากรระดับสากล
อีกหนึ่งโครงการสำคัญคือ “1 Staff 1 Certificate” ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานการบินไทยทุกระดับสามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรระยะสั้นจากจุฬาฯ ในสาขาที่หลากหลาย อาทิ การบริหารจัดการ การตลาดดิจิทัล ภาษาอังกฤษสำหรับงานบริการ และการคิดเชิงออกแบบ โดยผู้เข้าอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรจากจุฬาฯ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินและธุรกิจ
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อมั่นในพลังของวิชาการในการเปลี่ยนแปลงสังคม ความร่วมมือครั้งนี้จึงสะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะพลังขับเคลื่อนที่จับต้องได้ ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศชาติ
ด้าน ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกับจุฬาฯ สะท้อนพันธกิจของการบินไทยในการยกระดับศักยภาพบุคลากรและความรู้ เราเชื่อว่าความรู้คือรากฐานสำคัญของการฟื้นฟูและเติบโตอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และการบินไทยครั้งนี้จึงเป็นต้นแบบของการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งในมิติของคุณภาพบริการ มาตรฐานวิชาชีพ และแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับสังคมไทย