บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะจับตานโยบาย “ทรัมป์” ชู 12 หุ้นเด่น รับปัจจัยบวกในปท.

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คาด SET ยังผันผวน จับตานโยบาย "ทรัมป์" – แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ชู 12 หุ้นเด่น รับปัจจัยบวกในปท.


นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (14-18 พ.ย.) ว่า ตลาดจะมีความผันผวนสูง โดยปัจจัยชี้นำหลัก ๆ เป็นนโยบายประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ว่าจะเป็นในทางบวกหรือลบต่อตลาด โดยมองว่านโยบายที่จะนำไปใช้จริงจะไม่สุดขั้วเหมือนตอนหาเสียง ซึ่งน่าส่งผลบวก แต่หากตลาดไปให้ความสนใจกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯที่จะปรับขึ้นมากกว่า ตลาดน่าจะเผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศกันต่อ

ทั้งนี้ มองตัวแปรสำคัญๆของตลาดที่สำคัญได้แก่ 1.ปฎิกริยาของนักลงทุนจากนโยบายของนายทรัมป์ที่แยกเป็น 15 ด้าน แต่นโยบายที่สำคัญๆ และมีผลมาถึงตลาดหุ้น ได้แก่ การกีดกันทางการค้า,สัญญาการค้าระหว่างประเทศ,แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ-การจ้างงาน เร่งการขึ้นดอกเบี้ย, ผลจากอัตราแลกเปลี่ยน และ ส่งเสริมการผลิตน้ำมันและพลังงานดั้งเดิม โดย ณ วันนี้ไม่มีใครรู้ว่านโยบายที่ประกาศมาจะทำได้ 100% หรือน้อยกว่าที่หาเสียงไว้ ซึ่งเราคาดว่า ส่วนใหญ่ไม่เชื่อผลกระทบจึงจะไม่เป็นตามที่กลัวกันและที่ดูจากข่าวที่ออกมา นายทรัมป์มีแนวโน้มที่ดำเนินนโยบายในลักษณะที่ผ่อนปรนและไม่แข็งกร้าว เหมือนนโยบายที่ใช้หาเสียง เพราะคงรู้ว่าจะถูกต่อต้านอย่างมาก เพียงแค่ไม่กี่วันก็มีการประท้วงต่อต้านกันแล้ว ท้ายที่สุดนโยบายในชีวิตจริงคงไม่ต่างจากรัฐบาลโอบามามากนัก

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้คาดว่าตลาดจะหันมาให้ความสนใจกับแผนลดภาษีหรือแผนลงทุนของรัฐบาลที่จะมากขึ้นเป็นบวกต่อภาคธุรกิจ และจะทำให้ GDP ช่วง 1 ปีข้างหน้ายังขยายตัวดี แต่จะทำให้เงินเฟ้อจะถูกคาดว่าจะสูงขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง เราจึงเห็นการดีดตัวของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอย่างรุนแรง ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี สูงขึ้นหลังทราบผลเลือกตั้งถึง 0.2% มาปิดที่ 2.15% ในวันศุกร์ พร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลล่าร์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่ เพราะนักลงทุนต่างประเทศกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และจะมีผลต่อตลาดค่อนข้างมากด้วย ถ้าแรงขายยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยที่ 2.คือการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ ก่อนหน้านี้นักลงทุนกลุ่มนี้ทยอยขายหุ้นมาก่อนแล้ว การที่มีความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ และผลพวงอื่นๆ ที่จะตามมาหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯจบลงแบบผิดคาด โดยเฉพาะโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศในอนาคตที่อาจเปลี่ยนไป ซึ่งมีผลโดยตรงต่อคู่ค้าหรือประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ หากยังมีสัญญาณลบในเรื่องนี้อยู่ จะทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงขายหุ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน

ขณะที่ปัจจัยสุดท้าย คือ กำไรตลาดไตรมาส 3 จะลดลงมากกว่าคาด บริษัทใน SET-MAI ที่กำหนดส่งงบวันสุดท้าย คือเช้า 15 พ.ย. จึงเป็นสัปดาห์ที่จะมีการส่งงบกันเป็นจำนวนมาก และจะมีผลต่อตลาดมากเช่นกันก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ KTBST ประเมินบริษัทใน SET จะมีกำไรไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.39 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำไร 1.2 หมื่นล้านบาท และ ลดลง 2.8% จากไตรมาสก่อนแต่จากข้อมูลที่รายงานมาแล้ว 334 บริษัท หรือ 63% ของบริษัทใน SET คาดว่ากำไรของบริษัทใน SET น่าจะจบลงที่ 2.17 แสนล้านบาทลดลง -12% QoQ โดยกำไรกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงหรือลดลงมากจากไตรมาส 2 จะเป็น กลุ่มพลังงาน , ปิโตรเคมี , ICT ขณะที่ P/E ตลาด โดยใช้กำไรไตรมาส 3 ที่ บล.KTBST ประมาณการ จะอยู่ที่ 16.3 เท่า (current P/E = 19.56 เท่า)

สำหรับกลยุทธ์ลงทุนในสัปดาห์นี้ รอดูความชัดเจนของนโยบายของนายทรัมป์จะบอกทิศทางตลาดว่าจะไปในทางใด นักลงทุนจึงควรชะลอการลงทุน หรือเล่นสั้นๆไว้ก่อนจนกว่าตลาดจะนิ่งและชัดขึ้น หุ้นขนาดใหญ่ยังถือว่าเสี่ยงกับการถูกขาย ถ้าตลาดปรับตัวลงต่อให้ลดการถือหุ้นใหญ่ (หุ้นที่นักลงทุนซื้อไว้มาก) ในขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 3 จะรายงานครบแล้ว ควรทยอยขายหุ้นที่มีการเก็งในเรื่องงบมาก่อนหน้านี้ ยกเว้นหุ้นที่คาดว่า ไตรมาสต่อๆไป กำไรจะยังดีให้ถือต่อได้ คาดกรอบการเคลื่อนไหวสัปดาห์นี้ 1,477-1,521 จุด

หุ้นที่น่าสนใจแบ่งเป็น หุ้นบวกจากปัจจัยในประเทศ (Domestic Play) CK,INET,S11,ANAN หุ้นรับผลบวกจากเงินบาทอ่อนค่า KCE,SMT หุ้นงบดี และอาจดีต่อเนื่อง VIH,ECF หุ้นที่มีประเด็นบวกอื่นๆ หรือราคาลงมามาก IVL,DTAC,SIRI และหุ้นที่มี Dividend Yield สูง KGI

Back to top button