3 โบรกฯ แนะเก็บ BEM ชี้วืดสัมปทานทางด่วน 30 ปีกระทบเล็กน้อย-คงเป้าสูง 12 บาท

3 โบรกฯ แนะเก็บ BEM ชี้วืดสัมปทานทางด่วน 30 ปีกระทบเล็กน้อย-คงเป้าสูง 12 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ณ เวลา 12.08 น. อยู่ที่ระดับ 11.00 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 0.90% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.24 พันล้านบาท  หลังวานนี้การประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานทางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ BEM ได้ข้อยุติข้อพิพาทจากการเจรจากับ BEM

โดยให้มีการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกกับการยุติข้อพิพาททั้งหมด โดยไม่มีการลงทุนปรับปรุงทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอผลการเจรจาดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันนี้(24ธ.ค.62) ฟากโบรกแนะเก็บชี้วืดสัมปทานทางด่วน 30 ปีกระทบเล็กน้อยชูเป้าสูง 12 บาท

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า วานนี้(23ธ.ค.62) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานทางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ BEM เปิดเผยว่า  คณะทำงานฯได้ข้อยุติข้อพิพาทจากการเจรจากับ BEM โดยให้มีการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกกับการยุติข้อพิพาททั้งหมด โดยไม่มีการลงทุนปรับปรุงทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอผลการเจรจาดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันนี้

เงื่อนไขการต่ออายุสัมปทานทางด่วน เพียง 15 ปี 8 เดือน ต่ำกว่ากว่าที่ฝ่ายวิจัยและตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะได้ต่อสัญญาทางด่วน 30 ปี นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขพิเศษ คือ ขอให้ BEM งดเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งจะมีประมาณ 20 วันต่อปี และรวมทั้งสิ้น 300 วัน ส่งผลให้รายได้ของ BEM จะหายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

หาก ครม. เห็นชอบในวันนี้ เชื่อว่าประเด็นเงื่อนไขข้อยุติข้อพิพาทจะส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นของ BEM ในระยะสั้น  โดยฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าเหมาะสม กรณีได้รับการต่ออายุสัญญาสัมทานทางด่วน 15 ปี เท่ากับ 10.90 บาท ลดลงจากเดิมที่ประเมินมูลค่าโดยให้สมมติฐานต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วน 30 ปี ที่ 11.80

อย่างไรก็ตามยังคงคำแนะนำลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว โดยคาดว่ากำไรปกติปี 2563 จะเติบโตอย่างโดดเด่น 39.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ในเดือน มี.ค.63 ทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้บริการครบลูปอย่างเต็มรูปแบบ และค่าตัดจำหน่ายทางด่วนที่ลดลง รวมทั้ง Upside เพิ่มเติมจากโครงการใหม่ที่จะเข้าประมูลในปีหน้า ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย มองว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่โตต่ำ BEM เป็นหนึ่งในหุ้น Defensive ที่น่าสนใจ

 

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า BEM (AWS TP 12.50 บาท) ประเด็นการหารือเพื่อหาข้อสรุปการยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่าง กทพ. กับ BEM ว่า กระทรวงคมนาคมได้สรุปแนวทางยุติข้อพิพาท โดยจะขยายอายุสัญญาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (A, B, C) ที่จะสิ้นสุด 29 ก.พ. 2563 (2) ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ที่จะสิ้นสุด 22 เม.ย. 2570 และ (3) โครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C+) ที่จะสิ้นสุด 27 ก.ย. 2569 โดยทั้ง 3 โครงการ สัญญาใหม่จะสิ้นสุด 31 ต.ค. 2578 พร้อมมีเงื่อนไขว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องยุติข้อพิพาทและ ถอนฟ้องคดีทั้งหมดทั้งที่ศาลตัดสินไปแล้ว และที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี (มูลหนี้ ข้อพิพาทรวม 1.38 แสนล้านบาท) กำหนดเวลา กระทรวงคมนาคม จะเสนอ ครม. วันนี้ (24 ธ.ค.)

หาก ครม. เห็นชอบ จะแจ้งให้ BEM รับทราบเพื่อนำไปเจรจาให้ได้ข้อยุติภายในบริษัท จากนั้นจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการตาม ม.43 เห็นชอบ ก่อนส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญา และนำเสนอกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป คาดแล้วเสร็จภายใน ม.ค. 63 ลงนาม ก.พ. 63 ก่อนสัญญาแรกจะสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.พ. 63

ความเห็น: ยังไม่ได้พูดคุยกับ BEM เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แต่ผลการพิจารณาเบื้องต้น ไม่ได้เกินกว่าที่คาดหมาย อย่างไรก็ตามหากได้ข้อสรุปตามที่เป็นข่าว จะไม่กระทบต่อประมาณการ และมูลค่าเหมาะสมของ ยังคงมุมมองที่เป็นบวกต่อ BEM

 

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า BEM แม้ระยะสั้น อาจสร้างความผิดหวังต่อ consensus ที่ BEM ไม่ได้สัญญายาว 30 ปี แต่ข้อดีคือ BEM ไม่ต้องลงทุนใหม่คิดเป็น 2.6 บาท/ หุ้น และยังสามารถปิดความเสี่ยงได้ทันที 3 ด้าน (ต่อสัญญาไม่ทัน, cost overrun หากรีบเข้าลงทุนทางด่วน Double Deck เลย, D/E ไม่พุ่งกลับไปที่สูง)

มองว่า จังหวะการอ่อนตัว เป็นโอกาสสะสม “ซื้อ” หุ้น Defensive ที่จะแสดงกำไรปกติโต +30% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2563 ขณะที่จำนวนผู้โดยสารรถไฟใต้ดินก็กำลังเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 จากการเปิดส่วนต่อขยาย เตาปูน-ท่าพระ ซึ่งเริ่มทดลองวิ่งแล้วอีกด้วย ส่วน Upside จากการประมูลสายสีส้ม, การนำ BMN เข้าตลาด และ การได้เข้าทำ Double Deck เพื่อต่อสัมปทานอีก 15 ปี ก็ยังคงอยู่ในมือของบริษัท แนะซื้อราคาเป้าหมาย 12 บาท

อนึ่งวานนี้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า คณะทำงานได้สรุปผลการพิจารณานำส่งให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับทราบแล้ว และเห็นชอบตามแนวทางที่คณะทำงานสรุป คือ ตกลงขยายสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สูงสุดที่ 15 ปี 8 เดือน โดยไม่มีการลงทุนปรับปรุงทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) และทุกสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 พร้อมกัน เพื่อล้างมูลหนี้ข้อพิพาท 58,873 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C ซึ่งจะหมดสัญญาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ขยายออกไปสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 (รวม 15 ปี 8 เดือน)

2.ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ซึ่งจะหมดสัญญาในวันที่ 22 เมษายน 2570 ขยายออกไปสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 (รวมระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน) และ 3.ทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ด (C+) ซึ่งจะหมดสัญญาวันที่ 27 กันยายน 2569 ขยายออกไปสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 (รวมระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน) จากเดิมที่ กทพ.เคยเจรจากับ BEM และได้ข้อยุติว่าจะขยายสัญญาสัมปทาน 30 ปี พร้อมกับให้ BEM ลงทุนก่อสร้าง Double Deck จากด่านประชาชื่นอโศก ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากคณะทำงานฯพิจารณาแล้วเห็นว่า Double Deck ไม่ใช่เงื่อนไขที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาท แต่เป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้ก่อสร้างหรือไม่ เนื่องจากต้องได้รับการอนุมัติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อน ดังนั้นคณะทำงานฯจึงพิจารณาเฉพาะมูลเหตุข้อพิพาท คือ เรื่องการสร้างทางแข่งขันจากการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทล-เวย์จากอนุสรณ์สถาน-รังสิต และการไม่ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา โดยคณะทำงานฯได้นำข้อมูลการจราจรบนดอนเมืองโทลเวย์อนุสรณ์สถาน-รังสิต ตั้งแต่ปี 2541 มาคำนวณว่า BEM สูญเสียเท่าใด เพื่อตีมูลค่าการขยายสัมปทาน และสุดท้ายได้ตัวเลขที่เหมาะสมที่ 15 ปี 8 เดือน

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการต่อสัญญา 15 ปี 8 เดือนนั้น กทพ.จะได้ส่วนแบ่งรายได้เท่าเดิม คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B กทพ.ได้ส่วนแบ่งรายได้ที่ 60% และ BEM ได้ 40% ส่วน C D และ C+ BEM ได้รายได้แบบ 100% โดยจะมีการปรับค่าผ่านทาง 10 ปี 1 ครั้ง 10 บาท ดังนั้นตลอดสัญญา 15 ปี 8 เดือน จะปรับค่าผ่านทางเพียง 1 ครั้ง ขณะเดียวกันทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องถอนฟ้องทุกคดี ซึ่งรวมแล้วมี 17 คดี เป็นคดีที่ BEM ฟ้องร้อง กทพ. 15 คดี และเป็นคดีที่ กทพ.ฟ้องร้อง BEM 2 คดี

นอกจากนี้ BEM ต้องงดเว้นการเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามประกาศของสำนักนายรัฐมนตรี และดำเนินการปรับปรุงทางด่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ประกอบด้วย ก่อสร้าง Bypass 2 แห่งบริเวณบึงมักกะสันคือBypassอโศก-ดินแดงแก้ปัญหาการตัดกระแสจราจรจากอโศกและอนุสาวรีย์ฯ กับ Bypassดินแดง-อโศกแก้ปัญหาการตัดกระแสจราจรจากดินแดงและสุขุมวิท / ขยายผิวจราจร2แห่งแก้ปัญหาคอขวด คือ บริเวณทางลงเพลินจิตช่วงหน้าโรงแรมอิสติน และบริเวณยมราชช่วงหน้ากระทรวงการคลัง

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากเงื่อนไขทั้งหมดดังกล่าวคณะทำงานฯได้เชิญ BEM มาเจรจาอย่างไม่เป็นทางการแล้ว และ BEM ให้การยอมรับ โดยในวันนี้ (24 ธ.ค. 2562) กระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อขออนุมัติแนวทางการเจรจา หาก ครม.เห็นชอบ กระทรวงคมนาคมก็จะแจ้งให้ กทพ.เจรจากับ BEM อย่างเป็นทางการ และเสนอผลเจรจาต่อคณะกรรมการกำกับสัญญา ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พิจารณาเห็นชอบ และนำส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ จากนั้นนำส่งมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม. โดยขั้นตอนทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2563 เพื่อลงนามในสัญญาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่สัญญาสัมปทาน ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C จะหมดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

ทั้งนี้หลังจากลงนามในสัญญาแล้ว ทั้ง 2 ฝ่าย คือ กทพ.และ BEM จะต้องถอนฟ้องทุกคดีระหว่างกัน สัญญาจึงจะเริ่มมีผลบังคับใช้

ด้านนายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า จากการพิจารณาผลสรุปที่คณะทำงานฯชุดปลัดกระทรวงคมนาคมรายงาน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะมีข้อมูลตัวเลข ที่มา ที่ไปที่ชัดเจน อีกทั้ง BEM ยอมงดเว้นค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้ด้วย ซึ่งถ้าคำนวณตามการประกาศของสำนักนายรัฐมนตรี จะมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ประมาณ 20 วันต่อปี รวม 15 ปี 8 เดือน เป็น 300 วัน รายได้ของ BEM จะหายไปประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ทั้งหมดต้องนำเข้าครม.ว่าเห็นชอบแนวทางที่หารือกันนี้หรือไม่ ก่อนดำเนินการขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามหาก กทพ.ลงนามในสัญญากับ BEM ไม่ทันก่อนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ก็ยังสามารถใช้วิธีจ้างบริหารไปก่อนได้จนกว่าจะลงนาม

Back to top button