CBG ทุ่ม 4 พันล้าน เขย่าตลาด “เบียร์” ฤกษ์ดีเปิดตัวไตรมาส 4

CBG ทุ่ม 4 พันล้าน เขย่าตลาด “เบียร์” ฤกษ์ดีเปิดตัวไตรมาส 4/66 ขณะที่ตลาดเบียร์นั้นยังคงเป็นของผู้เล่นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น  เนื่องจากมีข้อจำกัดในทางกฎหมายของกระทรวงการคลัง


กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมาทันทีกับตลาดเครื่องดื่มประเภทสุรา หลังมีข่าวออกมาว่า บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังชั้นแนวหน้าของไทย หรือเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง “คาราบาวแดง” สุรา “ข้าวหอม” ที่ล่าสุดมีแผนทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท โดยประกาศเปิดตัวสินค้าใหม่ที่เป็น ‘เบียร์’ เตรียมวางจำหน่ายทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 4/2566 นี้ เป็นการผลิตขายทั้งรูปแบบขวดและกระป๋อง

โดยคุณเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานคณะกรรมการบริหาร CBG เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกชื่อ โดยมีอยู่ในใจแล้ว 2 ชื่อที่ดีที่สุด ซึ่งก็คือ  “เบียร์เยอรมันตะวันแดง” และ “เบียร์คาราบาว” คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ ในสำหรับเบียร์นี้มีพื้นฐานมาจากเบียร์เยอรมนี มีการส่งตรงบริวมาสเตอร์ จากประเทศเยอรมนีมาช่วยในการผลิต ในช่วงแรกจะเปิดตัว 2-3 รสชาติ ผลิตที่โรงงานของบริษัทที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งช่องทางการจำหน่ายนั้นจะเป็นร้านค้าทั่วไป  รวมไปถึงร้านค้าในเครือ ซีเจ มอลล์ , ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เบื้องต้นยังไม่มีการกำหนดราคาขายอย่างชัดเจน ในตอนนี้สำหรับการลงทุนโรงงานผลิตเบียร์ 4,000 ล้านบาทของคาราบาว  ถือเป็นการลงทุนใหญ่ในรอบ 6 ปี ซึ่งโรงงานเบียร์จะมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 400 ล้านลิตรต่อปี เบื้องต้นผลิต 200 ล้านลิตรต่อปี

จากประเด็นนี้ทำให้เป็นที่ฮือฮาขึ้นมาทันที  เมื่อหันมามองตลาดเกี่ยวกับส่วนแบ่งทางการตลาดเกี่ยวกับวงการธุรกิจเบียร์จะพบว่า  บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี  ได้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนแบ่งตลาดเบียร์ ผู้นำตลาด ได้แก่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีส่วนแบ่งตลาด 57.9% ของมูลค่าตลาดเบียร์ในไทยโดยรวม 2.6 แสนล้านบาท ตามด้วย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด มีส่วนแบ่งตลาด 34.3% และ บริษัท ไทย เอเชียแปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด มีส่วนแบ่งตลาด 4.7%

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายสินค้า จะพบว่า “ลีโอ” มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 44.8% รองลงมา คือ “ช้าง” มีส่วนแบ่งตลาด 31.2%, “สิงห์” มีส่วนแบ่งตลาด 11.2%,  “ไฮเนเกน” มีส่วนแบ่งตลาด 3.8% และ “อาชา” มีส่วนแบ่งตลาด 2.4%

นอกจากนี้ยังประเมินด้วยว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2565-2567 คาดว่าจะเติบโตในอัตราต่ำหลังจากหดตัวต่อเนื่องเมื่อปี 2563-2564 ขณะที่ตลาดของเบียร์ก็คาดว่าความต้องการบริโภคในประเทศจะขยายตัวเฉลี่ย 3-4% ต่อปี ผลจากแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัว

ส่วนทางด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า การที่ CBG ทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ประกาศเปิดตัวเบียร์น้องใหม่ทำให้ทางฝ่ายวิจัยมองบวกต่อข่าวดังกล่าว เพราะเป็นการสร้างแบรนด์แตกไลน์ธุรกิจที่ดีหรือต่อยอดด้านการขายของสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่แล้ว เช่น สินค้ากลุ่มเหล้าขาว, วิสกี้, โซจู  ช่วยหนุนยอดขายเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมในประมาณการ แต่น่าจะเป็น Potential Growth ที่ดีในอนาคต

อย่างไรก็ดีตลาดของเบียร์นั้นยังคงเป็นของผู้เล่นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น  เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในทางกฎหมายของกระทรวงการคลัง ทำให้ผู้เล่นที่มีเงินทุนน้อยไม่สามารถลงมาตลาดเพื่อทำการแข่งขันได้ ซึ่งเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีคนที่ต้องการทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเบียร์ ต้องนำเข้าเบียร์ต่างชาติมาขาย หรือไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศอื่น แล้วนำเบียร์เข้ามาขายในประเทศไทย ถ้าหากในอนาคตมีข้อกำหนดเงื่อนให้ทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น ก็คาดว่าจะมีผู้เล่นรายเล็ก เดินหน้าทำสินค้าลงตลาด  ทำให้ตลาดเบียร์มีความคึกคักมากกว่าเดิม

Back to top button