“แบงก์ชาติ” เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ พ.ค.66 วูบ เหตุท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น

"แบงก์ชาติ" เผยดัชนีเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ค.2566 ลดลง เหตุท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น-หมดมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การบริการและคำสั่งซื้อลดลง


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ค.2566 พบว่า อยู่ที่ระดับ 49.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 50.1 ในเดือน เม.ย.2566 ตามการลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ นำโดยความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การผลิต และการจ้างงาน โดยความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงตามกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร จากการเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และมาตรการกระ ตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่สิ้นสุดลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การบริการ และคำสั่งซื้อปรับลดลงมาก

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นใน ภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นำโดยกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากความ เชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกด้าน อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในด้านการส่งออกของกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ยกเว้นกลุ่มผลิตยานยนต์ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดการผลิต และการส่งมอบรถยนต์ชะลอลง

โดยในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับลดลงจาก 56.1 มาอยู่ที่ 54.7 ตามการลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ และจากทั้งภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต โดยความเชื่อมั่นของภาคการผลิตปรับลดลงมากจากกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากการผลิตที่เร่งไปมากในเดือนก่อน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงในหลายหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม และ ร้านอาหาร รวมถึงกลุ่มโลจิสติกส์

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ โดยรวมและเกือบทุกธุรกิจยังอยู่เหนือระดับ 50 ได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ยกเว้นกลุ่มก่อสร้าง ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 อีกครั้ง จากด้านต้นทุนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) ประจำเดือน พ.ค.2566 อยู่ที่ 51.2 ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่มีเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่ค่าครองชีพยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการคาดว่าในระยะต่อไปจะมีการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงด้วย

โดยหากจำแนกตามประ เภทร้านค้า พบว่าความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันปรับลดลงจากกลุ่มห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารเป็นสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคพยายามลดรายจ่าย โดยเลือกซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น และลดความถี่ในการทานอาหารนอกบ้าน ส่วนความเชื่อมั่นต่อ ยอดขายสาขาเดิมทุกภูมิภาคปรับลดลง โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ยกเว้นภาคใต้ เนื่องจากยังไม่มีมาตรการจากภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคออกมาใหม่ และทำให้ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเช่นเดียวกัน.

Back to top button