“คลัง” สั่งลดกำไร-ดอกเบี้ย “แบงก์รัฐ” ช่วยห่วงโซ่ส่งออกไทย สู้กำแพงภาษี “ทรัมป์”

รองนายกฯ และ รมว.คลัง สั่งแบงก์รัฐ ลดกำไร-ดอกเบี้ย ช่วยห่วงโซ่ส่งออก รับมือกำแพงภาษี “ทรัมป์” นัดถกมาตรการรอบใหม่ใน 2 สัปดาห์ ขณะ “ออมสิน” จ่อออกซอฟต์โลนปล่อยกู้ทั้งระบบ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 พ.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมสถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

โดยได้มอบหมายให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง กลับไปจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่ของภาคส่งออก พร้อมสั่งให้เปิด “คลินิก” หรือ “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ” เพื่อรับฟังข้อมูลจากลูกค้า และปรับกลยุทธ์ในการรับมือกับผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ

ภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ จะมีการเรียกประชุมรอบที่ 2 เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และพิจารณาแนวทางที่แต่ละสถาบันจะนำมาใช้ในการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

สำหรับฝั่งธนาคารพาณิชย์ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด โดยเน้นให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อส่งออก รวบรวมรายละเอียดผลกระทบจากลูกค้า แล้วจัดประชุมผ่านสมาคมธนาคารไทย ซึ่งตนจะเข้าร่วมประชุมในลำดับถัดไป

นายพิชัย กล่าวถึงการเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal Tariffs) ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 แต่ยังมีการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำ (Universal Tariffs) เพิ่มอีก 10% ว่า ไทยไม่ควรรอจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งจะครบกำหนด 90 วัน เพราะสินค้าที่ส่งออกทางเรือ หากออกจากไทยในวันที่ 10 มิถุนายน จะใช้เวลาราวหนึ่งเดือนในการเดินทางไปถึงสหรัฐฯ จึงอาจได้รับผลกระทบหากไม่มีการบรรลุข้อตกลง

“หากตกลงไม่ได้ อาจเกิดปัญหาได้หลายกรณี เช่น สินค้าเข้าไม่ได้ จะต้องปฏิบัติอย่างไร ก็ต้องเรียกลูกค้ามาคุยว่า ขณะนี้การส่งออกก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม จะเจออุปสรรคหรือปัญหาอะไรหรือไม่… แล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จะเรียกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมาคุยการบ้านว่า มีการออกมาตรการอะไรบ้าง” นายพิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารของรัฐได้วิเคราะห์ผลกระทบไว้ 3 ระดับ ได้แก่ กระทบน้อย ปานกลาง และมาก โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ รองลงมาคือ SMEs ที่เป็นห่วงโซ่ธุรกิจส่งออก และกลุ่มสุดท้ายคือแรงงานหรือผู้รับจ้างในภาคผลิต

นายพิชัย ระบุว่า จะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ และ SMEs ที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับแรก โดยธนาคารออมสินเตรียมออกมาตรการรองรับแล้ว หากลูกค้าได้รับผลกระทบสามารถเข้ามาติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ซึ่งในเบื้องต้นธนาคารมีแนวคิดลดดอกเบี้ยลง 2–3% และเตรียมออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% สำหรับปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ส่งออกในระบบ

ด้านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ซึ่งมีลูกค้าผู้ส่งออกประมาณ 3,000 ราย เตรียมแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 ระยะ ได้แก่ กลุ่มที่สะดุดชั่วคราวระยะสั้น และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบระยะยาว โดยพิจารณาวงเงินช่วยเหลือตามสภาพคล่องของลูกค้าแต่ละราย

นายพิชัย กล่าวด้วยว่า หนึ่งในแนวทางที่ดำเนินการได้รวดเร็วคือการแบ่งกำไรของธนาคารรัฐมาใช้บรรเทาวิกฤตภาคส่งออก โดยยกตัวอย่างธนาคารออมสินที่เคยใช้วิธีนี้มาก่อน ส่งผลให้กำไรลดลงราว 20% แต่ยังสามารถดำเนินกิจการต่อได้อย่างมั่นคง อย่างไรก็ตาม ประเด็นการลดกำไรของแต่ละแบงก์ยังต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินยังมีความแข็งแรงเพียงพอ

ด้าน นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกแห่งได้รับโจทย์จากกระทรวงการคลังแล้ว และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากลูกค้าเพื่อนำไปประเมินสถานการณ์ภาพรวม โดยในส่วนของธนาคารออมสิน ได้จัดทำมาตรการเบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายใน 2 สัปดาห์

นายวิทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ซอฟต์โลนเดิมที่มีวงเงิน 1 แสนล้านบาท จะสิ้นสุดในปี 2568 แต่สามารถเบิกจ่ายได้ถึงสิ้นปี 2569 ปัจจุบันมีการเบิกจ่ายแล้ว 75,000 ล้านบาท ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำซอฟต์โลนชุดใหม่เพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกและซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึง SMEs ที่แข่งขันกับสินค้านำเข้า อสังหาริมทรัพย์บางประเภท และภาคท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

Back to top button