
“ดีอี” ร่วมกระทรวงอุตฯ ประกาศจัดงาน “Global ISO Conference 2025” รับผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์
“ดีอี” ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงการเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Global ISO Conference 2025” การประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ (ISO/IEC JTC1/SC7) ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 13 มิ.ย. นี้
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA พร้อมด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global ISO Conference 2025 การประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านซอฟต์แวร์และวิศวกรรมระบบ (ISO/IEC JTC1/SC7) ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 13 มิถุนายน 2568
โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง DE และ นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการยกระดับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ระหว่าง ดีป้า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงดีอี พร้อมด้วยหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง และเครือข่ายพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ การดึงดูดการลงทุน Data Center และ Cloud จากบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลกที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี อย่าง AWS, Microsoft และ Google การแก้ไขปัญหาสินค้าและบริการดิจิทัลที่ไม่มีคุณภาพและมาตรฐานผ่านกลไกบัญชีบริการดิจิทัล
การสร้างความเชื่อมั่นแก่นานาประเทศต่อการขับเคลื่อนงานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยี AI โดยประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence 2025 ระหว่างวันที่ 24 – 27 มิถุนายน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เจรจาความร่วมมือระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำนโยบาย หรือข้อริเริ่มในการขับเคลื่อนงานระหว่างประเทศด้วย AI ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพด้าน AI ต่อสายตาชาวโลก และเปิดโอกาสการพัฒนาหรือต่อยอดงานกับนานาประเทศ
“สำหรับงาน Global ISO Conference 2025 จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกำหนดมาตรฐานในระดับสากลเพื่อพัฒนามาตรฐานซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะช่วยให้คนไทยได้ใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาเป็นธรรม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีของผู้กำหนดมาตรฐานระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสทองของประเทศในการสร้างความน่าเชื่อถือ ความร่วมมือ และอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายประเสริฐ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ DEPA กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ หรือ ISO/IEC JTC 1/SC 7 เป็นหน่วยงานย่อยภายใต้การกำกับของ ISO และ IEC ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดทำมาตรฐานสากลด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการพัฒนา การจัดการ การประกันคุณภาพ การประเมินผล การดูแลรักษา ไปจนถึงแนวทางด้านจริยธรรมและความน่าเชื่อถือของระบบสารสนเทศและซอฟต์แวร์
ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย สามารถทำงานร่วมกันได้ และสอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยงาน Global ISO Conference 2025 ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นเชิงเทคนิค เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ รวม 21 ประเทศเข้าร่วมประชุม
“การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Global ISO Conference 2025 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการยกระดับบทบาทของไทยในเวทีมาตรฐานดิจิทัลระดับสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านมาตรฐานซอฟต์แวร์และระบบในภูมิภาคได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของประเทศให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนามาตรฐานสากล ทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศ” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว
อีกทั้ง ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า Global ISO Conference 2025 ยังถือเป็นเวทีสำคัญที่ประเทศไทยจะได้แนะนำ dSURE ตราสัญลักษณ์ที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลของไทยที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้งาน (Safety) ความสามารถในการทำงาน (Functionality) และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity)
โดย DEPA ได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้รับมาตรฐานระดับสากลที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะทำให้ต่อยอดสู่การขึ้นทะเบียน “บัญชีบริการดิจิทัล” แหล่งรวบรวมสินค้า/บริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
โดยเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐาน คุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานและภาคธุรกิจ โดยทั้งสองกลไกเป็นตัวอย่างสำคัญของการสร้างมาตรฐานภายในประเทศที่สามารถต่อยอดสู่การยอมรับในระดับสากล
สำหรับงาน Global ISO Conference 2025 เป็นการประชุมใหญ่ประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และระบบ (ISO/IEC JTC 1/SC 7) ซึ่งนับเป็นการประชุมหลักที่จัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง โดยปีนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 21 ประเทศจาก 39 ประเทศเข้าร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือให้เกิดการกำหนดมาตรฐานกลางที่ใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบงานสารสนเทศให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และสามารถทำงานร่วมกันได้ พร้อมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานจากทั่วโลก
ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลักดันมาตรฐานให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมกันพัฒนามาตรฐานในหลากหลายหัวข้อ อาทิ แนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ (Digital Technologies & Innovation) การกำกับดูแล บริการ และการจัดการสินทรัพย์ด้าน IT (IT Governance, Services & Assets) การพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยความช่วยเหลือจาก AI (AI-Assisted Software Development) ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และความน่าเชื่อถือของระบบ (Cybersecurity & Dependability) การประเมินคุณภาพและการจัดทำมาตรฐาน (Quality & Standards) การพัฒนาแอปพลิเคชันแบบโลว์โค้ด (Low Code Development) รวมถึงแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์สีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Software)