
BOI เคาะ 4 มาตรการ เสริมศักยภาพ-ยกระดับธุรกิจ SME รับมือการค้าโลก
บอร์ด BOI อนุมัติ 4 มาตรการปรับปรุงเครื่องจักร เลี่ยงกิจการที่อาจเกิด Oversupply เพิ่มความเข้มข้นกระบวนการผลิต และปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ มุ่งยกระดับแข่งขัน SMEs รองรับการค้าโลกยุคใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (19 พ.ค. 68) ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับโลกยุคใหม่ โดยมุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย รักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ ภายใต้สภาวะตลาดที่มีความผันผวน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากมาตรการการค้าของสหรัฐอเมริกา และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในหลากหลายอุตสาหกรรมได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ระดับโลก โดยมีมาตรการสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้
1.ส่งเสริมให้ SMEs ไทย ปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยออกมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นให้ SMEs ไทย ลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล การประหยัดพลังงาน การยกระดับสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่
โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ SMEs ไทย จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ในวงเงิน 100%
2.งดให้การส่งเสริมกิจการที่อาจมีปริมาณผลิตเกินความต้องการ (Oversupply) หรือกิจการที่มีความเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ เช่น กิจการผลิตเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่กลุ่มตะกั่ว-กรด อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์ตกแต่งยานพาหนะ กิจการตัดโลหะ กิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกรณีตั้งนอกนิคมอุตสาหกรรมและไม่มีกระบวนการรีไซเคิล
นอกจากนี้จะงดส่งเสริมกิจการเหล็กขั้นปลายเพิ่มเติมจากเดิม ได้แก่ กิจการผลิตเหล็กทรงยาวทุกชนิด เหล็กทรงแบน (เฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแผ่นหนา) และท่อเหล็กชนิดต่าง ๆ
3.เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับบางกิจการที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากมาตรการการค้าสหรัฐฯ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุตสาหกรรมเบา โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขชัดเจนว่า ต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ โดยมีการแปรสภาพวัตถุดิบหลักเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอ เช่น มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรอย่างน้อยในระดับ 4 หลัก เพื่อให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชัดเจนมากยิ่งขึ้น
4.ปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ สำหรับกิจการผลิตที่ขอรับการส่งเสริมลงทุนและมีการจ้างงานทั้งบริษัทตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีการจ้างบุคลากรไทยไม่น้อยกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งหมด นอกจากนี้จะกำหนดรายได้ขั้นต่ำของบุคลากรต่างชาติที่จะขอใช้สิทธิด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานกับบีโอไอ เช่น ถ้าเป็นระดับผู้บริหารต้องมีรายได้ 150,000 บาทขึ้นไป และระดับผู้เชี่ยวชาญ 50,000 บาทขึ้นไป
เพื่อสร้างสมดุลการจ้างงานในประเทศให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการแย่งงานบุคลากรไทย และกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจไทยได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้บีโอไอดำเนินการศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ และการส่งเสริมการร่วมทุน ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการต่างชาติร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยและช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกิจการที่มีความสำคัญต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทาน และให้นำกลับมาเสนอบอร์ดอีกครั้ง