“ศบค.” เผยข่าวดี ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยอดป่วยสะสมคงที่ 3,037 คน ไร้เสียชีวิต!

"ศบค." เผยข่าวดี ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยอดป่วยสะสมคงที่ 3,037 คน ไร้เสียชีวิต!


นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวันที่ 22 พ.ค.63 เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยนพ.ทวีศิลป์ ระบุว่าวันนี้ถือว่ามีข่าวดี เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม แต่ทั้งนี้ ยังเบาใจไม่ได้ เนื่องจากมีรายงานเบื้องต้นจากสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine)​ แห่งหนึ่งในช่วงเช้าวันนี้้ ว่ารอผลตรวจอย่างเป็นทางการของผู้ที่เดินทางกลับมาจาก อียิปต์ และอินเดีย ถือเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ ไม่ใช่การติดเชื้อภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมยังคงอยู่ที่ 3,037 ราย รักษาหายเพิ่ม 13 ราย รักษาหายแล้ว 2,910 ราย ยังรักษาอยู่ 71 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้ยอดเสียชีวิต คงที่ 56 ราย

ทั้งนี้ จากการปนะเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ วันที่ 8-21 พ.ค. พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 45 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่เป็นคนไทยกลับจากต่างประเทศใน State Quarantine ทั้งหมด 15 ราย ศูนย์กักกัน 5 ราย เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนหน้า 11 ราย การค้นหาเชิงรุก และในชุมชน 6 ราย ผู้ป่วยที่ไปอยู่ในที่ชุมชนในวันที่ 21 ก.พ. และที่อื่นๆด้วย 5 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานขายของ 3 ราย ถือว่ายังมีผู้ติดเชื้อที่เดินไปเดินมาในพื้นที่

สำหรับระยะของการระบาดของโควิด-19 จำแนกตามปัจจัยเสี่ยงและวันที่รับรายงานของประเทศไทย โดยหากดูจากการระบาดตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มี.ค.- 20 พ.ค. พบว่า ช่วงแรกๆ ในต้นเดือนมี.ค. มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มใหญ่มาจากตปท. ในวงจำกัด

ต่อมา พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากจากปัจจัยเสี่ยง คือ สถานบันเทิงและสนามมวย จึงมีการสั่งปิดสถานที่เสี่ยง และกลับมาระบาดซ้ำในวงกว้างและระบาดต่อเนื่องยาวมาจนถึงช่วงต้นเดือนเม.ย. จนกระทั่งมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้มาตรการเคอร์ฟิว และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง พบผู้ป่วยประปราย และกระทั่งมาเดือนพ.ค.สามารถกดตัวเลขผู้ป่วยให้ลดลงเหลือเพียงหลักหน่วย และบางวันเป็น 0

  “สิ่งที่เรียนรู้คือ ระยะเวลาที่สำคัญคือ 2 เดือน หากมีการติดเชื้อในรายที่ 1 แต่ไม่มีการแสดงอาการป่วย และนำเชื้อไปติดในรายที่ 2 และมีการแสดงอาการป่วย จึงต้องย้อนกลับไปหาประวัติเสี่ยงให้ได้ว่ารายที่ 1 เป็นใคร เพราะฉะนั้น 60 วันนี้มีความสำคัญในเชิงวิชาการทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ระบบไทยชนะ ต้องเก็บข้อมูล 60 วันนั่นเอง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อถึงภาพรวมการใช้ระบบไทยชนะว่า มีผู้ประกอบการลงทะเบียนรวมเป็น 81,149 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 7,470,609 คน การเช็กอิน 14,538,639 ครั้ง เช็กเอาท์ 10,932,694 ครั้ง มีผู้ทำแบบประเมิน 6,368,094 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม อยากให้ช่วยเช็กเอาท์เพิ่ม เพราะห่างกันถึง 4 ล้าน ต้องช่วยกันทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน อยากให้ร่วมมือกันในเรื่องนี้

Back to top button