
โบรกแนะลงทุน “หุ้นปลอดภัย-ปันผลสูง” รับมือภาษีสหรัฐเก็บไทย 36%
สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% กังวลนักลงทุนเทขายหุ้นส่งออก กดดันดัชนีผันผวน ฟาก บล. InnovestX ใช้กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ "กลุ่มหุ้นหลบภัย" ที่มีความผันผวนต่ำและไม่อ่อนไหวต่อภาวะสงครามการค้า ADVANC,BCH, CBG, ADVANC, BBL PTT ด้านบล.เอเชีย พลัส แนะเก็บหุ้นปันผลสูง (Dividend Yield) SIRI, AP, LH ,KKP, TU ให้ผลตอบแทนที่มั่นคง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ก.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้เริ่มส่งจดหมายเตือนถึงการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นกับประเทศคู่ค้าหลัก ๆ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 68 เป็นต้นไป แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่ายังคงเปิดโอกาสสำหรับการเจรจาต่อรองเพิ่มเติม และมีการเซ็นคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการถึงการเลื่อนการปรับขึ้นภาษีออกไปอย่างน้อยจนถึงวันที่ 1 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ทรัมป์ได้เริ่มต้นการแจ้งเตือนดังกล่าวโดยส่งจดหมายแสดงเจตนารมณ์ที่จะขึ้นภาษีสินค้า 25% จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากนั้นยังมีจดหมายอีกหลายชุดที่ตามมา ซึ่งระบุแผนที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เช่น แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาแก้ไขเพิ่มเติมและอาจจะเลื่อนกำหนดวันบังคับใช้ โดยกล่าวว่ากำหนดเส้นตายวันที่ 1 ส.ค.นั้น “ยังไม่แน่นอน 100%” และยังเปิดโอกาสสำหรับการปรับอัตราภาษีอีกหากประเทศคู่ค้ายังคงเสนอข้อตกลงเพิ่มเติม
อีกทั้ง ทรัมป์กล่าวว่าอาจจะมีการปรับบ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ พร้อมระบุว่าเขาจะมีการพิจารณาในทางที่ดีสำหรับประเทศที่ยังคงยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมพร้อมกับระบุว่า “เราจะไม่ทำอะไรที่ไม่ยุติธรรม”
รวมไปถึง ทรัมป์ยังเตือนว่าอย่าขึ้นภาษีตอบโต้ และหากประเทศไหนปรับเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ ก็จะโดนเก็บเพิ่มจาก Reciprocal Tariffs เท่านั้น
ด้าน นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ นักกลยุทธ์การลงทุน Research Department, InnovestX กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยโดยรวมจะตอบสนองเชิงลบต่อความไม่ชัดเจนของการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนเส้นตาย วันที่ 9 ก.ค.นี้ ขณะที่เวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่สามารถตกลงกับสหรัฐฯ และยอมให้ภาษีบางรายการอยู่ที่ 0% แต่ยังคงถูกเก็บภาษีส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 20% ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการเจรจากับประเทศคู่ค้า รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีฐานภาษีเดิมอยู่ที่ 36%
ทั้งนี้ การเจจาอยู่ภายใต้เงื่อนไงซับซ้อน โดยเฉพาะความคาดหวังของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตร และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งหากยอมรับอาจกระทบต่อผู้ประกอบการไทยโดยตรง
นอกจากนี้ ได้จัดทำ 3 ฉากทัศน์สำหรับผลกระทบของภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่มีต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยดังนี้ กรณีพื้นฐาน Base Case (ความน่าจะเป็น 60%) หากไทยถูกเก็บภาษี 15-20% (รวมภาษีพื้นฐาน 10%) คาด GDP จะเติมโต 1.1-1.4% และ EPS ตลาดอยู่ที่ 84-86 บาท ดัชนีมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบ 1,032-1,175 จุด (P/E ที่ 12-14 เท่า)
กรณีเลวร้ายที่สุด Worst Case (ความน่าจะเป็น 30%) หากไทยเผชิญภาษี 25-36% คาด GDP หดตัวลงอยู่ที่ -1.1% ถึง 0.5% และดัชนีอาจร่วงต่ำกว่า 1,000 จุด และกรณีดีที่สุด Best Case (ความน่าจะเป็น 10%) หากถูกเก็บเพียงภาษี Universal ที่ 10% คาด GDP เติบโต 1.7% EPS ตลาดอยู่ที่ 88 บาท และดัชนีอาจแกว่งในกรอบสูงถึง 1,157-1,233 จุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ “กลุ่มหุ้นหลบภัย” ที่มีความผันผวนต่ำและไม่อ่อนไหวต่อภาวะสงครามการค้า ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ได้รับแรงหนุนจากผลประมูลคลื่นความถี่ที่ กสทช. รับรองแล้ว ขณะที่บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH และบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG คาดมีผลประกอบการไตรมาส 2/2568 เติบโตเด่น นอกจากนี้ ยังแนะนำหุ้นปันผลระหว่างกาลน่าสนใจ เช่น ADVANC, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อสร้างกระแสเงินสดในพอร์ต
อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นกลุ่มกำไรดีในช่วงประกาศงบไตรมาส 2/2568 และเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 3 ได้แก่ ADVANC, BCH, CBG, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด หรือ ASPS ระบุว่าท่ามกลางตลาดหุ้นผันผวน คัด 6 หุ้นมีสถิติปันผลสูงสม่ำเสมอ กำไรมีเสถียรภาพ รับผลบวกดอกเบี้ยขาลง มูลค่าหุ้นน่าสนใจ น่าสะสมเข้าพอร์ต SIRI,AP, KKP, LH,TU และ ITC
โดยในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับความผันผวนและความกังวลที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีไทยที่ 36% และจากปัจจัยลบเข้ามา จนส่งผลให้ดัชนีมีทิศทางไซด์เวย์ดาวน์ โดยล่าสุดทาง บล.เอเชีย พลัส ระบุว่า จากสถานการณ์ตลาดหุ้นในปัจจุบัน จึงแนะนำหุ้นปันผลสูงที่น่าสะสมเข้าพอร์ตลงทุน โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) สูง มูลค่าหุ้นน่าสนใจ แนวโน้มกำไรที่มีเสถียรภาพ รับผลบวกดอกเบี้ยขาลง
สำหรับหุ้นที่แนะนำ ได้แก่ 1.บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (PER) อยู่ที่ 5.64 เท่า มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 0.47 เท่า และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล หรือ Dividend Yield สูงถึง 8.86%
2.บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (PER) อยู่ที่ 4.58 เท่า มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 0.46 เท่า และอัตราผลตอบแทนเงินปันผลอยู่ที่ 8.19%
3.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (PER) อยู่ที่ 8.99 เท่า มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 0.63 เท่า และให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 8.38%
4.บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (PER) อยู่ที่ 11.44 เท่า มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 0.84 เท่า และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 6.12%
5.บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (PER) อยู่ที่ 11.66 เท่า มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 0.91 เท่า และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 5.14%
6.บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC มีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (PER) อยู่ที่ 16.27 เท่า มีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 1.56 เท่า และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 4.92%
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์คือ SIRI, AP และ LH มีจุดเด่นที่อัตราเงินปันผลตอบแทนสูงเกิน 6% และมูลค่าหุ้นค่อนข้างต่ำ ขณะที่กลุ่มการเงินและอุตสาหกรรมอาหาร เช่น KKP และ TU ให้ผลตอบแทนที่มั่นคง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดระยะยาว