ดาวโจนส์ปิดบวก 22 จุด ขณะตลาดจับตาประชุมเฟด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (15 มี.ค.) อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน โดยแม้ว่าดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวก แต่ดัชนี NASDAQ และ S&P 500 ปิดอ่อนแรงลง เพราะตลาดได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะทราบผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธที่ 16 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิด (15 มี.ค.) ที่ 17,251.53 จุด เพิ่มขึ้น 22.40 จุด หรือ +0.13%, ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,728.67 จุด ลดลง 21.61 จุด หรือ -0.45% และดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,015.93 จุด ลดลง 3.71 จุด หรือ -0.18%

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อคืนนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลง 2.3% หลังจากสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐ (API) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.1% ในเดือนก.พ. โดยยอดค้าปลีกที่อ่อนแอลงในเดือนก.พ.บ่งชี้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังคงซบเซาในไตรมาสแรก

ขณะที่สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค. แต่ยอดขายภาคธุรกิจร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้ผลิตของสหรัฐเผชิญกับยอดขายจากการส่งออกที่ร่วงลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยถูกกดดันจากภาวะอ่อนแอทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ และดอลลาร์ที่แข็งค่า ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะทราบผลการประชุมเฟดในวันพุธที่ 16 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

หุ้นเอวอน โพรดักซ์ ดิ่งลง 8.2% หลังจากบริษัทประกาศแผนลดจำนวนพนักงาน 2,500 ตำแหน่ง และจะย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทไปยังประเทศอังกฤษ, หุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์ร่วงลง โดยหุ้นไฟเซอร์ และหุ้นเมอร์ก แอนด์ โค ต่างก็ปรับตัวลงอย่างน้อย 1.2% หุ้นเอนโด อินเตอร์เนชันแนล ร่วงลง 23% ส่วนหุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 2% หลังจากมอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ไอโฟนจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้

ขณะที่นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในวันนี้ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน-การอนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ., การผลิตภาคอุตสาหกรรม-อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนก.พ. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)

Back to top button