
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 21 เม.ย.59
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 109.75 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 109.71 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1304 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1300 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,423.90 จุด เพิ่มขึ้น 8.94 จุด หรือ 0.63% มูลค่าการซื้อขาย 47,307.53 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,841.63 ล้านบาท (SET+MAI)
– นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ระบุว่า ตัวเลขส่งออกในเดือนมี.ค.มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวกต่อนื่อง และมีทิศทางขยายตัวดีขึ้น ส่วนรายละเอียดรอกระทรวงพาณิชย์ที่จะมีการแถลงตัวเลขส่งออกในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน
– นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการทำงานของอนุกรรมการที่กำกับดูแลการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมในทุกๆ ด้าน ซึ่งจากผลการทำงานแต่ละชุด คาดหวังว่าการอันดับจากการสำรวจของสถาบันจัดอันดับ IMD (International Institute for Management Development : IMD) และ WEF (World Economic Forum : WEF) จะมีอันดับดีขึ้น
– นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งจะสนับสนุนต่อการขยายตัวของสินเชื่ออย่างครอบคลุมที่ 5-6% อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะช้ากว่าที่คาด ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
– นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะเวลา 1 ปีเอาไว้ที่ระดับ 4.35% ไปจนถึงไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนในไตรมาสแรกขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 15.9 ล้านล้านหยวน (2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
– บรรดาผู้นำภาคธุรกิจของกลุ่มประเทศ G7 ได้หารือรือกันเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งรวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมนวัตกรรมเข้าสู่ภาคการลงทุน
– นายฟาติห์ บิรอล ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะดีดตัวขึ้นในช่วงปลายปี 2559 หรืออย่างช้าภายในปี 2560 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่กำลังขยายตัวในเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดียและจีน ขณะที่อุปทานน้ำมันในประเทศนอกกลุ่มโอเปกนั้นน่าจะปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบหลายๆปีที่ผ่านมา คิดเป็นปริมาณเกือบ 700,000 บาร์เรลต่อวัน
– ฟิทช์ เรทติ้งส์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน โดยระบุว่า การที่เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้ในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของธุรกรรมการกู้ยืม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเสี่ยงในระบบการเงิน โดยฟิทช์เริ่มไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจีนยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าปฏิรูประบบการเงินต่อไปหรือไม่ และในมุมมองของฟิทช์นั้นการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีกว่าการเติบโตด้วยการพึ่งพาธุรกรรมการกู้ยืม
– ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 6.75% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นไปตามคาด หลังจากที่ธนาคารมีมติลดดอกเบี้ยในการประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
– นักลงทุนในตลาดการเงินต่างจับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มีโอกาสน้อยมากที่ ECB จะใช้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์