พาราสาวะถี

ท้าทาย ไม่กลัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และมาตรา 44 รวมไปถึงการถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ถึงได้กล้าตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวไปถึงหัวหน้าคสช.โดยตรง และกระแทกหมดเข้าจุดโฟกัสด้วยการวิพากษ์รายการที่ท่านผู้นำพร่ำบ่นอยู่ตลอดเวลาว่าเรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน


อรชุน

 

ท้าทาย ไม่กลัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และมาตรา 44 รวมไปถึงการถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ถึงได้กล้าตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวไปถึงหัวหน้าคสช.โดยตรง และกระแทกหมดเข้าจุดโฟกัสด้วยการวิพากษ์รายการที่ท่านผู้นำพร่ำบ่นอยู่ตลอดเวลาว่าเรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

โดยแกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งข้อสังเกต ใช้ชื่อรายการว่าศาสตร์พระราชา แต่ด่าคนเห็นต่างเกือบทุกครั้งที่พูด ทำหน้าที่หยิบยื่นทรัพยากรของชาติแก่กลุ่มทุน ถามจริงเถอะทำอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง ชื่อรายการที่ตั้งขึ้นมานั้น ควรแล้วหรือที่จะเอามาใช้ด่าคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล หรือว่าเมื่อเป็นทหารเข้าสู่อำนาจรัฐ สามารถกำหนดมาตรฐานผิดถูกขึ้นใหม่ได้เอง

มิพักต้องใส่ใจอันใดทั้งสิ้น เรื่องการออกมาตรา 44 หยิบยื่น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร อุทยานแห่งชาติ ที่ดินสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ต่างชาติเช่าที่ดินในราคาถูก นี่หรือคือเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมากล่าวอ้างตลอดเวลา รัฐบาลทหารเหมือนกับรัฐบาลนักการเมืองประการหนึ่งคือ บริหารประเทศด้วยการสร้างความหวัง โดยมิพักต้องสนใจว่าการบริหารให้เป็นจริงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ดูได้จากความหวังที่เรียกว่าปฏิรูป ตั้งสภาปฏิรูป สภาขับเคลื่อนประเทศขึ้นมาเสียใหญ่โต มีอะไรบ้างที่เป็นจริง ทั้งหมดล้วนบริหารความหวังกันทั้งนั้น ความจริงเพียงหนึ่งเดียวที่ลงมือทำคือ หยิบยื่นโอกาสแก่กลุ่มทุน ผ่านกฎหมายและนโยบาย เป็นรัฐบาลมา 2 ปีกว่าแล้ว มีอำนาจเต็มมือ ถามจริง ทำอะไรที่เป็นประโยชน์สาธารณะในเชิงโครงสร้างบ้าง

อย่ามานับเรื่องจัดระเบียบรถตู้ จัดระเบียบวันสงกรานต์ ว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อประโยชน์ประชาชน ไร้เดียงสาเกินไป ปัญหาที่ดิน ปิโตรเลียม ไฟฟ้า ทะเล ป่าไม้ อะไรบ้างที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าประชาชนไม่มาเรียกร้อง มีหรือที่พวกคุณจะใส่ใจ ต้องให้เดือดร้อน ต้องให้สะเทือนรัฐบาลก่อน จึงจะลงมือแก้ไข พฤติกรรมไม่ต่างอะไรกับนักการเมือง

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับท่าทีของท่านผู้นำ ที่ประสิทธิ์ชัยเห็นว่า คำพูดของพลเอกประยุทธ์ไม่ต่างอะไรกับคำพูดของทีมพวกถ่านหิน ที่บอกว่า คนที่คัดค้านเป็นคนต่างพื้นที่ วาทกรรมนี้ทีมถ่านหินผลิตขึ้นมา แล้วท่านก็ตอบรับวาทกรรมมาขยายต่อ   เวทีวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา จัดขึ้นมาทำลิเกอะไร ทำไมลูกน้องไม่รายงานคนที่มาแสดงความเห็นส่วนใหญ่ในอันดามันเขาคิดอย่างไรเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ถ้าใครค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินคุณก็บอกว่าเป็นคนนอก หากใครก็ตามมาเชียร์โรงไฟฟ้าถ่านหิน คุณจะบอกว่ามันคือการมีส่วนร่วม เพราะถูกผิดคุณเป็นคนชี้ไม่ใช่ให้ข้อเท็จจริงชี้ เจตนาของพลเอกประยุทธ์นั้น อยากยุแหย่ให้เกิดความแตกแยก ไม่เช่นนั้นจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดติดต่อกัน 2 สัปดาห์เพื่ออะไร ทั้งที่มันควรจะยุติไปด้วยกลไกทางกฎหมายที่ตกลงกันแล้ว ฝืนฝอยหาตะเข็บเพื่ออะไร ใครเขียนโพยให้อ่าน

หรือไม่มีเรื่องใดพูดอีกแล้ว จึงมาพูดเพื่อสร้างความแตกแยก เป็นนายกฯที่พูดให้แตกแยกได้ทุกวัน ความสามารถในการยั้งคิดในการพูดนั้นต่ำกว่าเด็กมัธยมปลาย ก่อนที่ประสิทธิ์ชัยจะชี้ให้เห็นอีกมุมซึ่งถกเถียงกันเรื่องปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ว่า พลเอกประยุทธ์พยายามกลบเกลื่อนตลอดเวลา นั่นคือ ไฟไม่พอ ทั้งที่ไฟเกินอยู่กว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์

ก่อนจะตั้งคำถามต่อว่า ส่วนเกินเหล่านี้เอกชนได้ประโยชน์เพราะไม่ต้องผลิต รัฐก็ต้องจ่ายเรียกว่าค่าความพร้อมจ่าย ปีที่แล้วจ่ายไปแสนกว่าล้านบาท คุณต้องการปกปิดเพื่อกลุ่มทุนไม่กี่ตระกูลใช่หรือไม่ จึงออกมาพล่ามตลอดเวลาว่าไฟไม่พอ  ถามจริงตกลงคุณเป็นนายกรัฐมนตรีของใคร ปุจฉานี้เชื่อได้เลยว่าคำตอบของท่านผู้นำจะต้องเดือดปุดๆ แน่นอน

ความจริงไม่ใช่เฉพาะเรื่องโรงไฟฟ้า หากติดตามกันมาตลอดเกือบ 3 ปี แทบจะทุกเรื่องท่านถนัดใช้การทุบโต๊ะ อาจเป็นเพราะมั่นใจในอำนาจพิเศษและมาตรายาวิเศษ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียคัดค้านอันใด อย่างกรณีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หากไม่ใช่พวกเดียวกันออกมาเปิดแล้วเกิดเป็นกระแสคัดค้านคงหน้าทนยกมือเห็นชอบโดยไม่ถอดมาตรา 10/1 กันไปแล้ว

มุมวิเคราะห์ต่อเรื่องนี้ของ ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ เมื่อไม่กี่วันก่อนมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ไม่ควรจะเป็นเพียงแค่สิ่งตกค้างทางอารมณ์จากความต้องการปฏิรูปพลังงานที่หาทางออกที่ดีกว่าไม่ได้ การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติจึงไม่ควรเป็นแค่เพียงภาพของความหวาดกลัวกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมือง รวมไปถึงการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติจึงไม่ใช่เรื่องแค่รัฐ และระบบราชการจะเข้ามาดำเนินการทางธุรกิจเสียเอง

หากแต่เป็นภาพที่ควรจะจินตนาการร่วมกันถึงแนวทางในการบริหารจัดการพลังงานเชิงสถาบัน อาทิ เมื่อมีบริษัท ปตท. อยู่แล้ว หากมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 องค์กรจะดำเนินไปในรูปลักษณ์อย่างไร เป้าหมายหลักของการมีบรรษัทแห่งชาติ สามารถถ่ายโอนมาให้บริษัท ปตท. ดำเนินการได้หรือไม่ เพื่อลดความเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน ปตท. มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามการตอบคำถามว่า บรรษัทพลังงานแห่งชาติจะสามารถกระจายผลประโยชน์จากทรัพยากรทางพลังงานให้แก่เพื่อนร่วมชาติในฐานะผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึงและเสมอหน้า หรือดีกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร คำตอบของคำถามดังกล่าวน่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการเกิดขึ้นของบรรษัทพลังงานแห่งชาติ  เมื่อรัฐจะเรียกคืนความเป็นเจ้าของเหนือการบริหารจัดการพลังงาน รัฐจะมีหรือให้คำอธิบายที่สะท้อนถึงตรรกะและเหตุผลที่ชอบธรรมอย่างไร

Back to top button