THAI ถดถอยยั่งยืน

แม้ว่าในปีพ.ศ. 2560 นี้ ผู้บริหารของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จะพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่าบริษัทกำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนปฏิรูปองค์กรคือ "การเติบโตอย่างยั่งยืน" โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 6 กลยุทธ์ แต่ข้อเท็จจริงจากผลประกอบการในไตรมาสแรกซึ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการทำกำไรของทุกปี สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทกำลังถดถอยอย่างยั่งยืนมากกว่า..


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

แม้ว่าในปีพ.ศ. 2560 นี้ ผู้บริหารของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จะพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่าบริษัทกำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนปฏิรูปองค์กรคือ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 6 กลยุทธ์ แต่ข้อเท็จจริงจากผลประกอบการในไตรมาสแรกซึ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการทำกำไรของทุกปี  สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทกำลังถดถอยอย่างยั่งยืนมากกว่า..

เหตุผล เพราะแม้จะทำกำไรสุทธิให้เห็น แต่ก็ปิดบังความเปราะบางของความสามารถในการแข่งขันและฐานะทางการเงินไม่มิด

ข้อเท็จจริงจากงบการเงินไตรมาสแรกของการบินไทยมีรายละเอียดที่แจกแจงได้ถึงความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันดังนี้ (ดูงบการเงินประกอบ)

-รายได้ 51,3953.43 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน  1%  เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงที่ส่งผลให้รายได้จากผู้โดยสารลดลง 12% ทั้งที่มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 11.6% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 82.8% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินที่ 80.1% เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้รายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินลดลงจากการปรับอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันลง ถึงแม้ว่าจะมีรายได้จากค่าระวางขนส่งและค่าไปรษณียภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน

-อัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงที่ 11.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน หรือ 2,927.39 ล้านบาท

ซึ่งรวมเอากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,560.05 ล้านบาทด้วย หากไม่นับรวม จะมีกำไรที่ 1,367.28 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าเป็นข่าวดี เพราะกำไรขั้นต้นของ THAI นั้นติดลบต่อเนื่องมาหลายไตรมาสแล้ว

-รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ 157.29 ล้านบาท และเครื่องบิน 859.72 ล้านบาท รวม 1,017.01 ล้านบาท

-กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 1,560.05 ล้านบาท

-รับรู้การขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทย่อย คือ สายการบินไทยสไมล์ และนกแอร์ ลดลงจากปีก่อนที่ระดับ 77.61 ล้านบาท เป็น 27.12 ล้านบาท

-กำไรสุทธิเฉพาะบริษัทแม่จะอยู่ที่ 3,157 ล้านบาท ลดลง 47.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating Profit) จำนวน 2,867 ล้านบาท หากคิดจากกำไรรวม มีกำไรสุทธิ 2.6 พันล้านบาท จะลดลงจากปีก่อน 60.1% เมื่อเทียบกับ  6.9 พันล้านบาท ของระยะเดียวกันในปีก่อน ใน 1Q16 และ 1.3 พันล้านบาท

รายละเอียดนี้ ทำให้เห็นชัดว่า THAI ยังต้องดิ้นรนอีกนาน แต่ก็คงไม่สามารถบอกได้ว่า เดินมาไม่ถูกทาง หรือไม่มีความพยายามจากฝ่ายบริหาร เพราะในไตรมาสแรกนี้ มีการดำเนินการที่สำคัญที่สะท้อนการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะเป็นสูตรเดิมๆ คือ…กำไรพิเศษของ THAI มักซ้ำซากกับปัจจัยหลัก 2 อย่างเท่านั้น …1) ลดต้นทุนการเงินหลากรูปแบบ 2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

มาตรการหลายอย่าง เช่น การยกเลิกทำการบิน  ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองของสายการบินไทยสมายล์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 โดยใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นฐานการบินเพียงแห่งเดียว และเริ่มดำเนินการโครงการติดตั้ง Crew Rest และอุปกรณ์ In-flight Connectivity บนเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 จำนวน 6 ลำ…เป็นไปตามสูตรสำเร็จ

ทั้งนี้ ยังได้มีการทำ MOU ร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา กับบริษัท แอร์บัส อินดัสตรี และทำ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระยะที่ 1 และการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ระยะที่ 1 กับกองทัพเรือ

นอกจากนี้ มีการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินได้มากขึ้น ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 4.4% โดยมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 11.6% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 82.8% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินที่ 80.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.52 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 10.1%

น่าเสียดายที่ ความพยายามเหล่านี้ ไม่ได้การันตีอนาคต เพราะในมุมมองของนักวิเคราะห์ ต่างมีความเห็นร่วมกันหลายสำนักว่า แรงกดดันของ THAI ในอีก 6 เดือนข้างหน้ามี 3 เรื่อง คือ 1) โอกาสในการขาดทุนในไตรมาส 2 และ 3 ที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่นปกติ เนื่องจากไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวและการแข่งขันที่รุนแรง 2) ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนกว่า 33% ของการบิน มีแนวโน้มสูงขึ้น 3) ต้นทุนอื่นๆ นอกจากน้ำมันที่นับวันสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการแข่งขัน ที่ส่งผลให้มีการแข่งขันลดค่าตั๋ว (รวมทั้งมีรายการพิเศษเพิ่มเติม) ทำให้ Passenger yield ต่ำลง

นักวิเคราะห์หลายสำนักฟันธงชนิดไม่เกรงใจว่า ราคาหุ้นเป้าหมายของ THAI ปีนี้ ไม่น่าเกิน 16.00 บาท

ส่วนรายที่เกรงใจ หรือรักษาน้ำใจกันหน่อย ก็บอกว่าไม่เกิน 20.00 บาท

จะเชื่อผู้บริหาร หรือเชื่อนักวิเคราะห์หุ้นดีเอ่ย..แต่คงเชื่อทั้งสองฝั่งพร้อมกันไม่ได้

ส่วนคนที่ไม่เชื่อใคร นอกจากเชื่อตัวเองนั้น …เชิญตามสะดวก

“อิ อิ อิ”

Back to top button