THCOM ดาวร่วงในยุค 4.0

เมื่อวานนี้ ราคาหุ้นของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ร่วงลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่ที่น่าสนใจคือ ราคาปิดวานนี้ 16.70 บาท เป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีกันเลยทีเดียว


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

เมื่อวานนี้ ราคาหุ้นของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ร่วงลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่ที่น่าสนใจคือ ราคาปิดวานนี้ 16.70 บาท เป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีกันเลยทีเดียว

ราคาดังกล่าว ทำให้ค่า P/BV ของ THCOM ล่าสุดต่ำลงเหลือเพียง 1.03 เท่า ในขณะที่ค่าพี/อี ยังคงอยู่ในระดับสูงคือ 15.90 เท่า ซึ่งนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักมีมุมมองว่ายังแพงเกิน ควร จะต้อง “ขาย” มากกว่าซื้อ

ราคาที่ถอยลงของ THCOM ชนิดนักลงทุนหมางเมินในวันนี้ ต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อนลิบลับ เพราะในครั้งนั้น ภายใต้ซีอีโอที่ได้ชื่อว่า สตรีเหล็กอย่าง นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ นักวิเคราะห์พากันให้ราคาเป้าหมายเกิน 40.00 บาททั้งสิ้น แต่วันนี้ภายใต้ ซีอีโอคนปัจจุบัน นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ แทบจะหาใครที่ให้ราคาเป้าหมายมากกว่า 18.00 บาท ยากเต็มทน

เหตุผลหลักของความหมางเมินของนักลงทุน และคำชี้แนะให้ขายในหุ้น THCOM ทั้งที่น่าจะรุ่งเรืองอย่างมากในบรรยากาศที่รัฐบาลกำลังเร่งสร้างนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 จริงจัง มาจากเรื่องเดียวคือ…อนาคตที่ขุ่นมัว

ปัจจัยหลักที่ทำให้ THCOM กลายเป็นธุรกิจที่อนาคตหม่นมัวคือ 1) กำไรที่ถดถอยลงต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นขาดทุนจนน่ากลัวอันตราย 2) ซากเดนของความหวาดกลัวสิ่งที่เรียกว่า “ผีทักษิณ”

ในกรณีแรก มีการคาดหมายว่า กำไรสุทธิที่ลดลงฮวบฮาบในไตรมาสแรก เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการถดถอยทางธุรกิจ เพราะไตรมาสสองจะต่ำลงไป และจะต่ำลงไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

ในไตรมาสแรกของปี 2560 THCOM มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวมทั้งสิ้น 2,731 ล้านบาท ลดลง 479 ล้านบาท หรือ 14.9% จาก 3,210 ล้านบาท เพราะรายได้จากธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจอินเทอร์เน็ตและสื่อลดมาก สวนทางกับต้นทุนดาวเทียมไทยคม 8 ส่งผลให้มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ จำนวน 259 ล้านบาท ลดลง 441 ล้านบาท หรือ 63.0% จาก 700 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปีก่อน

นักวิเคราะห์คาดว่า กำไรสุทธิของ THCOM ในไตรมาสสอง จะอยู่ที่ 166 ล้านบาท (รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 55 ล้านบาทแล้ว) จากแรงกดดันของปริมาณการใช้งานที่ลดลงของทั้งดาวเทียม ไอพีสตาร์ และดาวเทียมแบบดั้งเดิม (ไทยคม 5, ไทยคม 6, ไทยคม 7 และไทยคม 8) จากอัตราการใช้งานเดิม 57%  เหลือแค่ 55% แต่ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2560 ไว้ที่ 803 ล้านบาท ลดลง  50% ของปีที่ผ่านมา และลดไปเหลือที่ 786 ล้านบาทในปี 2561

ความตกต่ำในการทำกำไรของ THCOM จะดำเนินอีกหลายปี ปัจจัยหลักคือ การชะลอตัวของธุรกิจทีวีดาวเทียมในประเทศ การใช้งานดาวเทียมบรอดแบนด์ (ไอพีสตาร์ หรือไทยคม 4) จะลดลงจาก 54% ในไตรมาสแรกเหลือ 49% ในไตรมาสสอง จากที่สัญญาของ บมจ.ทีโอที ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แม้ว่าในไตรมาสสามของปีนี้ จะได้ลูกค้าใหม่ในตลาดอินโดนีเซีย (Axiata) จะใช้งานดาวเทียมไอพีสตาร์ราว 4.7% แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยเรื่องทีโอที และการสิ้นสุดสัญญากับลูกค้ารายใหญ่ในออสเตรเลีย (โครงการ NBN) ในไตรมาสสาม

อุปสรรคที่ใหญ่กว่า กลับรออยู่ในอนาคต เพราะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับดาวเทียมดวงใหม่ (ไทยคม 9 และไทยคม 10) ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะรัฐมนตรี แต่…ยังคงไม่มีข้อสรุปจากทางการ

นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลไทยยังคงไม่อินังขังขอบกับเรื่องดังกล่าว อันตรายจะมาเยือนได้ง่ายดาย

ปัญหานี้ เป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้บริหาร เพราะซีอีโออย่างนายไพบูลย์ ที่เป็นลูกหม้อเก่าแก่ของ THCOM ถือว่ามีความสามารถ ได้ชื่อว่ารอบรู้ยิ่งในธุรกิจดาวเทียม เพียงแต่ปัญหาอนาคตครั้งนี้แตกต่างจากอดีตหลายเท่า

ใบอนุญาตใหม่ของดาวเทียมดวงใหม่อย่าง ไทยคม 9 และไทยคม 10 (เพื่อมาทดแทน ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และดาวเทียมไทยคม 5 จะหมดอายุการใช้งานใกล้เคียงกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศในปี 2564)…ยังดำรงอยู่ในความเงียบ

ยิ่งเงียบ ยิ่งไม่เป็นผลดี ใครก็รู้ โดยเฉพาะซีอีโอที่ชื่อไพบูลย์

ปฏิบัติการ “ละลายความเงียบ” จึงเกิดขึ้นเมื่อวานซืนที่ผ่านมา โดยนายไพบูลย์ เปิดการแถลงข่าวว่า สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระหว่าง THCOM กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นระยะเวลา 30 ปี จะสิ้นสุดปี 2564 แต่แผนการจัดส่งดาวเทียมเพิ่มเติม ได้แก่ ดาวเทียมไทยคม 9 เพื่อทดแทนดาวเทียมไทยคม 4 (เนื่องจากการสร้างดาวเทียมใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี) จะต้องเริ่มสร้างช้าที่สุดในปี 2561 หากต้องการให้ลูกค้าของบริษัทใช้งานต่อเนื่องดาวเทียมไทยคม 9 เพื่อให้ทันกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ

ปัจจุบันนี้ ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท คือ ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ของ ญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของไทยคม 4 อยู่ ต้องการจองการใช้งานถึง 30% ของช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 9 หรือคิดเป็น 1.5 กิกะไบต์ และเรียกร้องให้สร้างดาวเทียมให้แล้วเสร็จภายในปี 2562…แต่เนื่องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม…ได้ถอนการจองวงโคจรของดาวเทียม 9 ไป หลังจากยื่นไปเมื่อปลายปี 2558 และยังไม่ได้ดำเนินการจองวงโคจรดาวเทียม 9 ทำให้ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ยกเลิกแผนการใช้งานดาวเทียมไทยคม 9 เมื่อเดือนเมษายน 2560….สูญเสียโอกาส และรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเยน หรือประมาณ 300 ล้านบาท

เสียหายขนาดนี้ จะไปฟ้องร้องเอากับใครได้ล่ะ…แบะ ๆๆๆๆ

ทางเลือกในยามนี้ที่ทหารเป็นใหญ่คับฟ้า..และยังกลัว “ผีทักษิณ” หลอกหลอนต่อ…คือ อ้อนวอนขอความเมตตา ให้รัฐบาลมีความชัดเจน และยื่นข้อเสนอโซลูชั่น เป็น “ดาวเทียมประชารัฐ” ในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0..ยังน้อยไป

นายไพบูลย์ จึงเสนอถึงขีดสุดไปเลยว่า…หากรัฐบาลมองเรื่องประโยชน์ของประเทศโดยแท้จริง ก็น่าจะใช้ ม.44 เพื่อแก้ปัญหาดาวเทียมของประเทศ

น่าจะมีคนฟังเนอะ…แต่เชื่อขนมกินไว้ก่อนว่า ไม่ได้ผลหรอก…เพราะคนจะใช้มาตรา 44 ยังกลัวผีทักษิณไม่หายน่ะสิ

อิ อิ อิ

Back to top button