TMB โอกาสไม่สูญเปล่า.!

จากกรณีเมื่อช่วงกลางปี 2562 กลุ่มเอฟดับบลิวดี (FWD Group Financial Services Pte. Ltd.) เข้าซื้อบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) และเป็นพันธมิตรกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ไปโดยปริยาย...


สำนักข่าวรัชดา

จากกรณีเมื่อช่วงกลางปี 2562 กลุ่มเอฟดับบลิวดี (FWD Group Financial Services Pte. Ltd.) เข้าซื้อบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) และเป็นพันธมิตรกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ไปโดยปริยาย…

ทำให้เกิดความเสี่ยงกับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เนื่องจากเดิมเอฟดับบลิวดีเป็นพันธมิตรอยู่กับ TMB..!!

ความเสี่ยงของ TMB อยู่ตรงที่หลังวันที่ 1 ม.ค. 2564 โอกาสการเป็นนายหน้าขายประกันชีวิตของเอฟดับบลิวดี จะจบลง หลังจากเอฟดับบลิวดีหันไปจับมือกับ SCB

ที่จริงก็น่าเห็นใจบรรดาแบงก์พาณิชย์ที่สถานการณ์ปีนี้คงเหนื่อย..!! สินเชื่ออาจติดลบ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย…

แบงก์จึงต้องพยายามหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ มาชดเชย หนึ่งในนั้น คือ การเป็นนายหน้าขายประกัน หรือ แบงก์แอสชัวรันส์ เพื่อกินค่าฟี

ดังนั้น ถ้า TMB ไม่มีพันธมิตรรายใหม่เข้ามาทดแทน ก็จะสูญเสียรายได้ส่วนนี้ไปทันที…

แต่สถานการณ์คลายความกดดันไปทันที หลังจากบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด หรือ พรูเด็นเชียล เข้ามาซื้อสิทธิ์ขายประกันต่อจากเอฟดับบลิวดี เป็นเวลา 15 ปี

โดย TMB จะรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อสิทธิ์ (Access Fee) ของพรูเด็นเชียล ต่อจากเอฟดับบลิวดี จำนวน 13,000 ล้านบาทในปี 2563 และจะทยอยรับรู้รายได้จำนวนประมาณ 20,800 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาขั้นต้น

นั่นเท่ากับว่า TMB จะไม่สูญเสียโอกาสในการเป็นแบงก์แอสชัวรันส์

รวมถึงค่าฟี ที่จะเข้ามาในแต่ละปีตามจำนวนกรมธรรม์

เรียกว่า โอกาสของ TMB ไม่สูญเปล่า..!!

ขณะที่นักวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกต่อกรณีดังกล่าว จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อสิทธิ์ที่ TMB จะได้รับจากพรูเด็นเชียลจำนวน 13,000 ล้านบาท โดย TMB จะไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาก่อนกำหนด

ส่วนรายได้จำนวน 20,800 ล้านบาท ที่จะรับรู้ในอนาคตนั้น มีมูลค่าที่ใกล้เคียงกับที่ TMB ได้รับจากเอฟดับบลิวดี ทำให้ TMB ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

โดยคาดกำไรสุทธิปี 2563 ของ TMB อยู่ที่ 1.06 หมื่นล้านบาท และแนะนำ “ถือ” ที่ราคาเป้าหมาย 1.15 บาท

แต่น่าแปลก ทั้ง ๆ ที่ TMB ยังมีปัจจัยเชิงบวกรองรับ…แต่ราคาหุ้นกลับไหลรูดไม่มีเบรก โดยรอบ 3 เดือน ราคาปรับลดลง 51.83% ส่วนรอบ 1 เดือน ปรับลด 40.60% และรอบ 1 สัปดาห์ ปรับลด 4.82%

แหม๊…ยังกับแบงก์จะเจ๊งแล้วยังไงยังงั้น…

จนปัจจุบัน TMB มีสถานะเป็น “หุ้นไม่เต็มบาท” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ราคาปิดตลาด ณ วันศุกร์ที่ 20 มี.ค. อยู่ที่ 79 สตางค์)

เห็นแล้วน่าหนักใจแทน “เฮียปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB จริง ๆ ที่ต้องรับบทหนัก หาช่องทางสร้างรายได้เข้ามาสู่แบงก์ เพื่อกอบกู้วิกฤติศรัทธานักลงทุน…

สู้ สู้ นะคะ “เฮียปิติ”

…อิ อิ อิ…

Back to top button