VL อานิสงส์สัญญาใหม่ขนส่งน้ำมัน

ช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมาราคาหุ้น VL ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนสามารถขึ้นมายืนบริเวณ 1.25 บาท และสามารถวิ่งขึ้นไปยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันอย่างแข็งแกร่ง


คุณค่าบริษัท

ช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าราคาหุ้นบนกระดานของ บริษัท วี.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ VL มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากที่ราคาหุ้นลงไปต่ำกว่า 1 บาท จนสามารถขึ้นมายืนบริเวณ 1.25 บาท มิหนำซ้ำสามารถวิ่งขึ้นไปยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันอย่างแข็งแกร่ง แม้จะมีแรงเทขายออกมาบ้างแต่เป็นการพักฐานหลังปรับตัวขึ้นแรง หากไม่หลุดแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ราคาหุ้นจะตั้งลำ และมีท่าทีว่าราคาอาจปรับตัวขึ้นต่อได้ ด้วยบรรยากาศที่เป็นบวกจากปัจจัยพื้นฐานที่เป็นไปในทิศทางดี

เนื่องจากบริษัทลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดจ้างเรือขนส่งน้ำมันกับ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เพื่อเป็นข้อตกลงและแนวทางในการเจรจาสัญญาฉบับใหม่จัดจ้างเรือขนส่งน้ำมันดิบ (Crude Oil) คอนเดนเสท (Condensate) และน้ำมันผลิตภัณฑ์ (Oil Product) จากคลังน้ำมันต้นทาง โดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันไปยังคลังน้ำมันปลายทาง ตามเส้นทาง ระยะเวลา และเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายกำหนด

สำหรับสัญญาใหม่คาดว่าจะมีอายุสัญญา 5 ปี (2563-2567) โดยคาดว่าทาง VL จะบันทึกรายได้ราว 160 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันทิศทางธุรกิจการขนส่งน้ำมันในปัจจุบันเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการการปิดเมือง (Lockdown) ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงคาดว่าการขนส่งน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้จะฟื้นตัวขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการเดินทางและขนส่ง บริษัทจึงมั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่ต่ำกว่า 10%

พร้อมกับบริษัทเตรียมเพิ่มเรือบรรทุกน้ำมันใหม่อีก 1 ลำ ขนาดบรรทุก 3 ล้านลิตร หรือ 2,800 เดทเวทตัน ด้วยงบลงทุน 8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในสิ้นปีนี้บริษัทจะมีจำนวนเรือเพิ่มเป็น 13 ลำ ปริมาณการบรรทุกรวมไม่ต่ำกว่า 41,000-42,000 เดทเวทตัน โดยเตรียมรับมอบเรือที่สั่งต่อใหม่ 1 ลำในช่วงปลายปีนี้ จากปัจจุบันมีกองเรือ 12 ลำ ปริมาณการบรรทุกราว 39,000 เดทเวทตัน

นอกเหนือจากนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการทำธุรกิจเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า หลังจากมีลูกค้าสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก และคาดว่าในอนาคตความต้องการใช้ LNG จะสูงขึ้นอีก เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีความสะอาดมากกว่าน้ำมัน โดยเฉพาะหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสที่การเติบโตของการใช้ LNG มากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ทั้งนี้ บริษัทคาดภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปผลการศึกษาธุรกิจขนส่ง LNG และคาดหากตัดสินใจดำเนินธุรกิจดัวกล่าวก็น่าจะเริ่มได้ในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาวางแผนทำธุรกิจใหม่ที่จะช่วยสร้างกระแสเงินสด คาดว่าจะชัดเจนในปีนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดีหากดูผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 182.24 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 186.31 ล้านบาท ขณะที่ผลกำไรสุทธิขยับขึ้นมา 29.47 ล้านบาท หรือ 0.04 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 23.42 ล้านบาท หรือ 0.04 บาทต่อหุ้น เป็นผลจากการขายเรือ 3.89 ล้านบาทและต้นทุนทางการเงินลดลงเนื่องจากบริษัทมีการชำระหนี้คืนบางส่วน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง

สิ่งสำคัญ เมื่อดูค่า P/E อยู่ที่ 11.61 เท่า ถือว่าราคาหุ้นยังไม่แพง

เอาเป็นว่าการขยายธุรกิจจะเข้ามาช่วยหนุนการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่อง

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นางชุติภา กลิ่นสุวรรณ 522,098,200 หุ้น 65.26%
  2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 27,534,303 หุ้น 3.44%
  3. นายยุทธิชัย ปราณี 17,655,930 หุ้น 2.21%
  4. นายทวีศิลป์ ชินะพัฒนวงศ์ 15,395,900 หุ้น 1.92%
  5. นายมังกร เบญจรัตนาภรณ์ 13,600,000 หุ้น 1.70%

รายชื่อกรรมการ

  1. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ประธานกรรมการบริษัท, กรรมการอิสระ
  2. นางชุติภา กลิ่นสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  3. นายทวีศิลป์ ชินะพัฒนวงศ์ กรรมการ
  4. น.ส.รักชนก สำเนียงล้ำ กรรมการ
  5. นายจรัลพัฒน์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการ

Back to top button